วันพฤหัสบดีที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2551

คุณลักษณะอันพึงประสงค์ของนักเรียน

ความหมายของคุณลักษณศึกษา
“คุณลักษณศึกษา” เป็นคำที่แปลมาจากศัพท์ภาษาอังกฤษว่า “character education” ซึ่งมีความเกี่ยวข้องและคล้ายคลึงกับ "moral education" และ "virtue education" คำเหล่านี้มักจะใช้แทนกันและใช้ในความหมายเดียวกันในเชิงการจัดการศึกษาหรือกระบวนการขัดเกลาทางสังคมที่มุ่งเน้นการพัฒนาบุคคลให้มีพฤติกรรมและความคิดที่ดีงามตามอุดมคติที่สังคมพึงประสงค์ ความหมายของคุณลักษณ์ศึกษาที่ประมวลจาก Webster’s Ninth New Collegiate Dictionary (1991) Chicago Public Schools (1998) McBrien และ Brandt (1997) Educational Materials Center (2003) หมายถึง กระบวนการเรียนรู้ทั้งที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการที่มุ่งพัฒนาความคิด ความเชื่อ ค่านิยม และพฤติกรรมที่ดีในบุคคลเพื่อสร้างสรรค์สังคมที่ดีต่อไป นิยามข้างต้นชี้ให้เห็นว่าแนวทางการพัฒนาคุณลักษณะที่ดีของเด็กและเยาวชนมีขอบข่ายครอบคลุมแนวคิดที่เกี่ยวกับการพัฒนาความคิด ความเชื่อ ความรู้สึก และพฤติกรรม ตามกรอบของค่านิยม จารีต ประเพณี คุณธรรม ศีลธรรมตามหลักศาสนา มาตรฐาน กฎเกณฑ์และข้อบังคับต่าง ๆ ในสังคม ตลอดจนสภาพในอุดมคติที่ควรจะเป็นทั้งในระดับบุคคล คือ ในเด็กและเยาวชน ตลอดจนในระดับสังคมและประเทศต่อไป (คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น, 2551:25)

คุณลักษณะที่พึงประสงค์สำหรับสังคมไทย
คุณลักษณะที่ดีของคนไทยที่พึงประสงค์ ซึ่งกำหนดในมาตรฐานการศึกษาชาติคือ คุณธรรมและจิตสำนึกในความเป็นพลเมืองไทยและพลโลก โดยคนไทยต้องมีการดำเนินชีวิตโดยกายสุจริต วจีสุจริต และมโนสุจริต สำหรับการวิจัยนี้ได้กำหนดคุณลักษณะที่พึงประสงค์ออกเป็น 3 ด้าน ได้แก่ คุณลักษณะด้านคุณธรรม คุณลักษณะด้านสังคม และคุณลักษณะด้านการเรียนรู้
1. คุณลักษณะด้านคุณธรรม หมายถึง คุณลักษณะที่เป็นสภาพความดีงามในด้านต่างๆ และ หากยึดชุดของคุณธรรมระดับบุคคลเพื่อมุ่งความสำเร็จของส่วนรวมตามแนวพระราชดำริของพระบาท สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จากการวิเคราะห์ของไกรยุทธ ธีรตยาคีนันท์ (2531, อ้างถึงในคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น, 2551:25) ซึ่งใช้เป็นกรอบในงานวิจัยของสุวิมล ว่องวาณิช และนงลักษณ์ วิรัชชัย (2543, อ้างถึงในคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น, 2551:25) พบว่าคุณธรรมระดับบุคคลเพื่อความสำเร็จในการดำเนินชีวิตและเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวมมี 4 ชุด ได้แก่
1.1 คุณธรรมที่เป็นปัจจัยแรงผลักดัน หมายถึง สภาพความดีงามที่ช่วยเร่งรัดให้กระทำการใด ๆ ให้บรรลุจุดมุ่งหมายที่ตั้งไว้ เช่น ความขยันหมั่นเพียร ความอดทน ความสามารถพึ่งตนเอง และความมีวินัย
1.2 คุณธรรมที่เป็นปัจจัยหล่อเลี้ยง หมายถึง สภาพความดีงามที่ช่วยเร่งรัดให้กระทำการใด ๆ ให้บรรลุจุดมุ่งหมายที่ตั้งไว้อย่างต่อเนื่อง เช่น ฉันทะ ความรับผิดชอบ ความสำนึกในหน้าที่ และความกตัญญู
1.3 คุณธรรมที่เป็นปัจจัยเหนี่ยวรั้ง หมายถึง สภาพความดีงามที่ช่วยยึดประวิงหรือตักเตือนให้กระทำการใด ๆ ให้บรรลุจุดมุ่งหมายที่ตั้งไว้ เช่น ความมีสติและรอบคอบ และความตั้งจิตให้ดี
1.4 คุณธรรมที่เป็นปัจจัยสนับสนุน หมายถึง สภาพความดีงามที่ช่วยส่งเสริมให้กระทำการใด ๆ ให้บรรลุจุดมุ่งหมายที่ตั้งไว้ เช่น ความเมตตา ความปรารถนาดีต่อกัน ความเอื้อเฟื้อต่อกัน ความไม่เห็นแก่ตัว ความไม่เอารัดเอาเปรียบผู้อื่น ความอะลุ้มอล่วยถ้อยทีถ้อยอาศัย
2. คุณลักษณะด้านสังคม หมายถึง คุณลักษณะที่เกี่ยวข้องกับการเข้าสังคมและการมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น เช่น ความมีกิริยามารยาท การปรับตัว ความตรงต่อเวลา ความสุภาพ การมีสัมมาคารวะ การพูดจาไพเราะ และความอ่อนน้อมถ่อมตน
3. คุณลักษณะด้านการเรียนรู้ หมายถึง คุณลักษณะที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาหาความรู้ การทำความเข้าใจในเรื่องต่าง ๆ เช่น ความใฝ่รู้ใฝ่เรียน ความรักโรงเรียน และความรักการอ่าน

แนวทางการพัฒนาคุณลักษณะที่ดี
Berkowitz (2006, อ้างถึงในคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น, 2551:26) เสนอว่า คุณลักษณศึกษาเพื่อพัฒนาคุณลักษณะที่พึงประสงค์ไม่ควรใช้การเพิ่มโปรแกรมหรือกิจกรรมเข้าไปในโรงเรียน หากแต่ควรแปรเปลี่ยนวัฒนธรรมของโรงเรียนและการดำเนินชีวิต ในขณะที่ Michigan State University Extension (2005, อ้างถึงในคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น, 2551:26) ได้เสนอแนวทางการจัดคุณลักษณศึกษาเพื่อพัฒนาจริยธรรมของเด็กและเยาวชนของมูลนิธิจริยธรรมโจเซฟิน (Josephine Institute of Ethics) โดยจัดเป็นโครงการต่าง ๆ ที่พัฒนาจริยธรรมต่าง ๆ ให้แก่เด็กและเยาวชนตามโรงเรียนและองค์กรต่าง ๆ ทั่วประเทศ โดยมีชุดกิจกรรมที่เรียกว่า “Character Counts” ที่ใช้ในการพัฒนาคุณลักษณะที่ดีของเด็กในช่วงอายุต่าง ๆ 5 ช่วง ได้แก่ 4-6 ปี, 6-9 ปี, 9-11 ปี และ 11-13 ปี และวัยรุ่น โดยมีคุณลักษณะที่สำคัญ 6 ประการ (six pillars of character) ที่มุ่งสร้างเสริมให้เกิดกับนักเรียน ได้แก่ ความซื่อสัตย์ ความเคารพผู้อื่น ความรับผิดชอบ ความยุติธรรม การดูแลเอาใจใส่เกื้อกูล และความเป็นพลเมืองที่ดี
อย่างไรก็ตาม Gholar (2006, อ้างถึงใน คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น, 2551:25) ได้เสนอรูปแบบการพัฒนาคุณลักษณะที่พึงประสงค์ของเด็กผ่านการจัดประสบการณ์การเรียนรู้ให้กับเด็ก โดยจัดเป็นศูนย์คุณลักษณศึกษา เพื่อการศึกษาและสร้างกิจกรรมต่าง ๆ ที่พัฒนาคุณลักษณะที่พึงประสงค์ของนักเรียน นอกจากนั้นยังเน้นการเสริมสร้างการยอมรับตนเอง (self-esteem) ให้แก่เด็ก แนวคิดดังกล่าวเน้นการพัฒนาการเรียนรู้คุณธรรมจริยธรรมทั้งทางสติปัญญา (cognitive area) ในด้านความรู้ความเข้าใจในคุณลักษณะที่ดี ตลอดจนการพัฒนาด้านจิตใจ (affective area) ของนักเรียน ซึ่งจะส่งผลต่อการประพฤติการปฏิบัติตนของเด็ก แนวทางนี้หมายรวมถึงการบูรณาการการสอนและการสอดแทรกเรื่องคุณลักษณะที่ดีในการสอนวิชาต่าง ๆ ให้กับเด็กด้วย กิจกรรมที่บูรณาการและสอดแทรกเข้ากับหลักสูตรการจัดการเรียนการสอนปกติเพื่อพัฒนาคุณลักษณะของเด็กมีลักษณะที่ให้นักเรียนได้เรียนรู้และพัฒนาตนเองจากกิจกรรมการเรียนรู้หรือประสบการณ์ที่หลากหลาย ได้แก่ กิจกรรมการเรียนรู้แบบร่วมมือ (cooperative learning) การแสดงบทบาทสมมติ (role playing) กิจกรรมที่เน้นการคิดสร้างสรรค์ (creative thinking) และกลยุทธ์ต่าง ๆ ในการแก้ปัญหาความขัดแย้ง ที่เกิดระหว่างบุคคล
สำหรับแนวคิดเกี่ยวกับการพัฒนาคุณลักษณะของเด็กนั้น Character Education Partnership (2005, อ้างถึงในคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น, 2551:27) เสนอว่าไม่สามารถระบุวิธีการใดวิธีการหนึ่งได้อย่างเฉพาะเจาะจงว่าจะมีประสิทธิภาพในการจัดคุณลักษณศึกษา แต่มีหลักการสำคัญ 11 ประการในการจัดคุณลักษณศึกษาเพื่อพัฒนาคุณลักษณะที่พึงประสงค์ของนักเรียนที่ควรยึดถือ ประกอบด้วย
หลักการที่ 1 ส่งเสริมและให้ความสำคัญกับค่านิยมเชิงจริยธรรม โดยทำให้นักเรียนเห็นความสำคัญของการมีจริยธรรมเป็นคุณสมบัติของคนดีหรือคนที่มีคุณลักษณะที่ดี
หลักการที่ 2 ให้นิยามคำว่า “คุณลักษณะ ให้เข้าใจง่าย โดยรวมความหมายในเชิงความคิด ความรู้สึก และพฤติกรรมเข้าเป็นองค์ประกอบของคุณลักษณะต่าง ๆ
หลักการที่ 3 ใช้วิธีการพัฒนาคุณลักษณะที่เปิดโอกาสให้นักเรียนได้พัฒนาตนเองโดยตรง อย่างรอบด้าน และมีประสิทธิภาพ
หลักการที่ 4 สร้างเครือข่ายโรงเรียนและชุมชนในการพัฒนาคุณลักษณะของนักเรียน
หลักการที่ 5 เปิดโอกาสและจัดประสบการณ์การแสดงออกในทางคุณธรรมให้แก่นักเรียน
หลักการที่ 6 ผนวกการพัฒนาคุณลักษณะของนักเรียนเข้ากับหลักสูตรวิชาการในที่สอน
หลักการที่ 7 พยายามส่งเสริมแรงจูงใจในตัวนักเรียน
หลักการที่ 8 จัดให้บุคลากรทางการศึกษามีโอกาสพัฒนาคุณลักษณะที่ดีเช่นเดียวกันกับที่พัฒนานักเรียน
หลักการที่ 9 ส่งเสริมการเป็นผู้นำในด้านคุณธรรมของนักเรียนและให้การสนับสนุนการจัดคุณลักษณศึกษาอย่างต่อเนื่อง
หลักการที่ 10 จัดให้สมาชิกในครอบครัวชุมชนมีส่วนร่วมในการสร้างคุณลักษณะที่ดีให้แก่นักเรียน
หลักการที่ 11 ประเมินคุณลักษณะต่าง ๆ ของนักเรียนทั้งโรงเรียนและการดำเนินการของบุคลากรของโรงเรียนในการพัฒนาคุณลักษณะต่าง ๆ ของนักเรียน
Ryan (2002, อ้างถึงในคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น, 2551:27) เสนอแนวทางการจัดคุณลักษณศึกษาเพื่อพัฒนาคุณลักษณะที่พึงประสงค์ประกอบด้วย 6 องค์ประกอบ (The Six E's of Character Education) ดังรายละเอียดต่อไปนี้
1. การยกตัวอย่างและปฏิบัติเป็นแบบอย่าง (Example) แนวทางการยกตัวอย่างของการประพฤติ ปฏิบัติที่สะท้อนคุณลักษณะที่พึงประสงค์นอกเหนือจากการอบรมสั่งสอนเพื่อยกตัวอย่างพฤติกรรมที่ดีและไม่ดี พร้อมผลของการปฏิบัติให้เกิดความเข้าใจ รวมถึงการประพฤติตนเป็นแบบอย่างที่ดีของครูเพื่อให้นักเรียนเห็นด้วย การปฏิบัติตนเป็นแบบอย่างที่ดีถือเป็นการยกตัวอย่างที่ดีที่สุดที่นักเรียนสามารถเห็นและเลียนแบบการกระทำ ความประพฤติต่าง ๆ ได้โดยตรง
2. การสอนอธิบายให้รู้จักใช้เหตุผล (Explanation) ต้องปรับเปลี่ยนแนวทางในการพัฒนาคุณลักษณะของนักเรียน จากเดิมที่ควบคุมความประพฤติโดยเน้นการท่องกฎแล้วปฏิบัติตามกฎโดยขาดเหตุผล มาเป็นการใช้อธิบายให้รู้จักใช้เหตุและผลในการพัฒนาคุณลักษณะต่าง ๆ กระตุ้นให้เกิดการวิพากษ์หรือสนทนาเกี่ยวกับคุณลักษณะที่ดีและไม่ดี พร้อมอธิบายเหตุผลประกอบเพื่อสร้างความตระหนักและการปรับพฤติกรรมอันสะท้อนถึงคุณลักษณะของเด็กออกมา
3. การเชิญชวนให้ทำความดี (Exhortation) การชี้แนะ เชิญชวน โดยใช้การเสริมแรงทางบวกควบคู่กับการพัฒนาความกล้าหาญเชิงจริยธรรม (moral courage development) โดยให้กล้าทำในสิ่งที่ถูกต้อง ไม่อายหรือกลัวที่จะทำในสิ่งที่ควร
4. การจัดสิ่งแวดล้อมเชิงคุณธรรม (Ethos or Ethical Environment) เอื้อต่อการพัฒนาคุณลักษณะที่พึงประสงค์ ไม่มีสิ่งยั่วยุให้ไปในทางเสื่อม โดยเฉพาะในห้องเรียนซึ่งเป็นสังคมย่อยเล็ก ๆ ที่นักเรียนจะต้องสร้างปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น ครูสามารถจำลองสังคมใหญ่ภายในห้องเรียนได้ สร้างบรรยากาศเชิงคุณธรรม
5. การจัดประสบการณ์ (Experience) การเปิดโอกาสให้เด็กได้สัมผัสสังคมภายนอกอย่างจริงจังนอกโรงเรียนจะช่วยให้เด็กเรียนรู้และซึมซับแนวคิดในการประพฤติปฏิบัติตนอย่างพึงประสงค์
6. การคาดหวังความเป็นเลิศ (Expectations of Excellence) การวางเป้าหมายของตนเองของเด็ก เป็นเสมือนการกำหนดหลักชัยในการพัฒนาคุณลักษณะของตนเองให้ดียิ่ง ๆ ขึ้นไป
Educational Materials Center (2003, อ้างถึงใน คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น, 2551:25) เสนอกลยุทธ์การปฏิบัติที่เป็นเลิศ (best practice) ของการจัดคุณลักษณะศึกษาเพื่อพัฒนาคุณลักษณะของนักเรียนไว้ 10 ประการ โดยแยกการปฏิบัติด้วยวิธีการต่าง ๆ ออกเป็น 4 กลุ่ม รายละเอียดมีดังนี้
กลุ่มที่ 1 การนำหลักสูตรคุณลักษณ์ศึกษาเพิ่มเติมเข้าไปกับความรู้ที่ครูสอน และสนับสนุนการเข้าใจคุณลักษณะต่าง ๆ อย่างแท้จริง โดยแนวทางการปฏิบัติที่เป็นเลิศประกอบด้วย
แนวทางที่ 1 เปิดโอกาสให้นักเรียนได้เรียนรู้เกี่ยวกับคุณธรรมจากสถานการณ์ต่าง ๆ ที่เหมือนชีวิตจริงที่มีโอกาสได้พบ และเปิดโอกาสให้นักเรียนได้ตอบสนองต่อสถานการณ์นั้น ๆ อย่างหลากหลาย
แนวทางที่ 2 ทำให้คุณลักษณ์ศึกษาเป็นเสมือนเครื่องมือที่นำนักเรียนไปสู่เป้าหมายในการเรียน ไม่ใช่นำคุณลักษณศึกษาเข้ามาเพิ่มจากการเรียนการสอนปกติ แนวทางที่ 3 จัดกิจกรรมที่ให้นักเรียนได้สะท้อนตนเองและกิจกรรมการเรียนแบบร่วมมือ เพื่อช่วยให้นักเรียนพัฒนาคุณลักษณะการยอมรับตนเองและผู้อื่นอย่างสมดุล
กลุ่มที่ 2 การจัดกิจกรรมการสอนทักษะต่างๆ ให้กับนักเรียนอย่างมีประสิทธิภาพ โดยแนวทางการปฏิบัติที่เป็นเลิศ
แนวทางที่ 4 คือให้นักเรียนได้ฝึกฟังและทำความเข้าใจความเชื่อของผู้อื่นๆ และเคารพในความคิดของผู้อื่น ซึ่งหมายรวมถึงการยอมรับความแตกต่างของผู้อื่นด้วย
แนวทางที่ 5 จัดกิจกรรมการพัฒนาคุณลักษณะโดยใช้กิจกรรมกลุ่มการเรียนรู้แบบร่วมมือ เพื่อให้นักเรียนเรียนรู้การวางแผน การจัดกิจกรรม และสะท้อนผลที่ได้จากการจัดกิจกรรมร่วมกัน
กลุ่มที่ 3 การจัดกิจกรรมที่ช่วยพัฒนาประสิทธิภาพในตัวเองและการยอมรับตนเองของนักเรียน แนวทางการปฏิบัติที่เป็นเลิศ
แนวทางที่ 6 จัดโอกาสให้นักเรียนได้กำหนดสัญญากับตนเอง ในการพัฒนาคุณลักษณะต่าง ๆ
แนวทางที่ 7 จัดโอกาสที่ช่วยให้นักเรียนเชื่อมั่นในตนเอง
กลุ่มที่ 4 การจัดกิจกรรมที่เปิดโอกาสให้นักเรียนช่วยสังคม แนวทางการปฏิบัติที่เป็นเลิศแนวทางที่ 8 จัดกิจกรรมที่เสริมสร้างทัศนคติและการปฏิบัติตนในทางที่ดีให้แก่นักเรียน
แนวทางที่ 9 จัดโอกาสการเรียนรู้เพื่อรับใช้สังคม ซึ่งเป็นกิจกรรมที่ให้นักเรียนได้อุทิศหรือบำเพ็ญตนให้เป็นประโยชน์ต่อสังคม
แนวทางที่ 10 ให้ครอบครัวมีส่วนร่วมในการพัฒนาคุณลักษณะของนักเรียน
จากการศึกษาเอกสารที่เกี่ยวข้องกับแนวทางการพัฒนาคุณลักษณะที่ดีของเด็กและเยาวชน กล่าวโดยสรุปได้ว่า หลักการและแนวปฏิบัติในการจัดคุณลักษณะศึกษาเพื่อพัฒนาคุณลักษณะที่ดีของเด็กและเยาวชน แบ่งออกได้เป็น 4 แนวทาง (คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น, 2551:29)
แนวทางที่ 1 การพัฒนาหลักสูตรวิชาเฉพาะเพื่อพัฒนาคุณลักษณะที่ดีของเด็กและเยาวชนคือ วิชาหลักพลเมือง ซึ่งหมายถึง วิชาสำคัญหรือวิชาบังคับที่จัดให้นักเรียนได้เรียนรู้คุณลักษณะและการปฏิบัติตนเป็นพลเมืองที่ดี โดยจัดให้มีหลักสูตรวิชาดังกล่าวแยกต่างหากจากกลุ่มสาระวิชาที่มีอยู่ในหลักสูตรปกติ
แนวทางที่ 2 การบูรณาการกิจกรรมการพัฒนาคุณลักษณะที่ดีเข้าไปกับเนื้อหาวิชาต่าง ๆ เป็นการสอดแทรกการพัฒนาคุณลักษณะที่ดีเข้าไปในการจัดการเรียนรู้ในทุกกลุ่มสาระวิชา โดยเชื่อมโยงสิ่งที่เรียนกับคุณลักษณะที่ต้องการเสริมสร้างพัฒนาให้เหมาะสม เป็นการบูรณาการการพัฒนาคุณลักษณะที่ดีกับการจัดการเรียนรู้ปกติ ให้นักเรียนมีความรู้ควบคู่ไปกับการมีคุณธรรมจริยธรรม และค่านิยมที่พึงประสงค์
แนวทางที่ 3 การจัดกิจกรรมเสริมหลักสูตร หมายถึง กิจกรรมที่จัดนอกเหนือจากที่กำหนดไว้ในหลักสูตร ไม่ยึดติดกับเนื้อหาวิชา แต่ช่วยส่งเสริมการเรียนรู้ตามหลักสูตรหรือส่งเสริมคุณลักษณะ ที่พึงประสงค์ของนักเรียน และเป็นกิจกรรมที่ทำอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ
แนวทางที่ 4 การจัดกิจกรรมพิเศษเพื่อพัฒนาคุณลักษณะที่ดีของเด็กและเยาวชน แตกต่างจากกิจกรรมเสริมหลักสูตรตรงที่กิจกรรมพิเศษจะจัดขึ้นเป็นครั้งคราว ตามวาระ ไม่ต่อเนื่องสม่ำเสมอ และกิจกรรมดังกล่าวมักเป็นกิจกรรมที่กระตุ้นจิตสำนึกในการพัฒนาตนเอง หรือการให้สัญญากับตนเองหรือสาธารณชนในการพัฒนาตนเอง โดยกิจกรรมต่าง ๆ เหล่านี้อาจเป็นกิจกรรมที่ให้สถาบันที่เกี่ยวข้องกับเด็กและเยาวชนเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาคุณลักษณะของนักเรียน เช่น สถาบันครอบครัว โดยให้พ่อแม่ผู้ปกครองปลูกฝังและพัฒนาคุณลักษณะของเด็กและเยาวชนเมื่ออยู่ในครอบครัว หรือสถาบันศาสนา สามารถใช้สถานที่สำคัญทางศาสนาทำกิจกรรมพัฒนาคุณลักษณะของเด็กและเยาวชนได้ ทั้งนี้ควรมีการประเมินเพื่อกำกับติดตามความก้าวหน้าในการพัฒนาคุณลักษณะที่ดีของเด็กในกิจกรรมต่าง ๆ ระหว่างดำเนินการอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งจะเป็นแรงกระตุ้นผลักดันให้การดำเนินการเป็นไปอย่างต่อเนื่อง และนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนต่อไป

แนวคิด หลักการ และกลยุทธ์หรือนวัตกรรมการพัฒนาคุณลักษณะ
จากผลการวิจัยของสุวิมล ว่องวาณิช และคณะ (2549, อ้างถึงในคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น, 2551:30) พบว่าแนวคิดและหลักการสำหรับการพัฒนาคุณลักษณะที่ดีของนักเรียนมีดังต่อไปนี้
1. การสร้างตัวแบบ/ผู้นำ การพัฒนาคุณลักษณะต้องมีการสร้างตัวแบบที่ดี ทั้งพ่อแม่ผู้ปกครอง ครูอาจารย์ หรือบุคคลตัวอย่างในสังคม
2. การพัฒนาคุณธรรมและคุณลักษณะอื่น ๆ ให้เป็นวิถีชีวิต มีความสอดคล้องกับธรรมชาติ ตอกย้ำให้พัฒนาตนอย่างต่อเนื่อง โดยมีกระบวนการพัฒนาที่บูรณาการสอดแทรกอยู่ในชีวิตการเรียน การปฏิบัติงาน เชื่อมโยงความสัมพันธ์ระหว่างคนกับสิ่งแวดล้อม และคนกับธรรมชาติ โยงความสัมพันธ์ระหว่างสังคมวัฒนธรรมกับการเรียนการสอน
3. การพัฒนาตัวตนของนักเรียน ด้วยการจัดพื้นที่สร้างสรรค์และเปิดโอกาสให้เด็กและเยาวชนให้นักเรียนได้แสดงออกถึงความสามารถ ศักยภาพ และการปฏิบัติตนตามความเชื่อ ตามแนวทางที่ตนเองคิดสร้างสรรค์ และอยู่ในบริบทของการทำความดี มีส่วนร่วมในการทำกิจกรรมเพื่อพัฒนาสังคม ให้เด็กมีการปฏิบัติและพัฒนาตนอย่างเข้าใจความหมาย เห็นบทบาทและคุณค่าของตนเองมากขึ้น
4. การสร้างระบบค่านิยมให้เด็กและเยาวชนเห็นได้ชัดเจนว่าแก่นของเด็กไทยคืออะไร ต้องประพฤติและปฏิบัติตนอย่างไร กำหนดเป้าหมายของการพัฒนาชัดเจนและดึงสิ่งที่อยู่ใกล้ตัวเด็ก ทำให้เด็กมีการปรับเปลี่ยนวิธีคิด ปรับเปลี่ยนจริยธรรม เช่น การสำรวจพฤติกรรมการปฏิบัติตนของตนเองในแต่ละวัน และต้องยอมรับว่าค่านิยมต้องมาจากตัวแบบที่ดี
5. การสร้างความร่วมมือรวมพลังทั้งจากผู้บริหาร/ครูอาจารย์ในโรงเรียน พ่อแม่ผู้ปกครองในครอบครัว ชุมชน สังคม ในการพัฒนาเด็กและเยาวชนไทย กำหนดคุณธรรมที่เป็นเป้าหมาย การให้ครอบครัว ชุมชนมีการทำกิจกรรมร่วมกัน
6. การจัดกิจกรรมเพื่อพัฒนาคุณลักษณะของเด็กและเยาวชนต้องสอดคล้องกับลักษณะของโรงเรียน ธรรมชาติ บริบท และช่วงวัยของเด็ก
7. การสร้างความเข้มแข็งของครอบครัวและชุมชน มีการทำกิจกรรมร่วมกัน เรียนรู้ร่วมกัน และซึมซับวิธีคิดและการปฏิบัติในการอยู่ร่วมกันผ่านกระบวนการ เป็นธรรมชาติในระบบของชุมชน
8. โรงเรียนต้องมีนโยบายที่ไม่เน้นวิชาการอย่างเดียว โรงเรียนมีครูเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง ดึงชุมชนเข้ามา สร้างชุมชนที่สร้างสรรค์ ชี้ให้เห็นปัญหาของชุมชนที่ส่งผลกระทบต่อบุตรหลาน
9. ต้องมีการสร้างแนวร่วม มีเครือข่ายที่ช่วยเสริมกำลังใจให้เด็กทำความดี เด็กที่ได้รับการพัฒนาทำให้เขาดีไปแล้ว ก็มีเด็กรุ่นใหม่เรื่อย ๆ ต้องสร้างเครือข่าย การให้รางวัลไม่จำเป็นต้องเป็นเงิน เพียงแค่คำชมก็ได้
จากแนวคิด และหลักการพัฒนาคุณลักษณะที่พึงประสงค์ของนักเรียนข้างต้น สรุปเป็นกลยุทธ์การพัฒนาคุณลักษณะได้ดังนี้ (คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น, 2551:30)
1. กลยุทธ์การสร้างนโยบายสาธารณะด้านการพัฒนาคุณลักษณะ โดยการให้ความสำคัญกับองค์กรฐานรากของสังคม คือ สถาบันครอบครัวและสถาบันการศึกษา ในฐานะแกนกลางการพัฒนาคุณลักษณะที่พึงประสงค์ และการรวมพลังจากการเชื่อมประสานทุกภาคส่วนของสังคม ให้เข้ามามีส่วนร่วมดำเนินการมุ่งสู่เป้าหมายเดียวกัน คือ การพัฒนาคุณลักษณะที่พึงประสงค์ของนักเรียน ตั้งแต่ระดับบุคคล เช่น ควรมีการทำตนเป็นแบบอย่างที่ดีให้กับนักเรียน และการช่วยอบรมตักเตือนโดยผู้อาวุโส ระดับกลุ่มบุคคล เช่น การรวมตัวจัดกิจกรรมที่เอื้อต่อการปลูกฝังคุณลักษณะระดับองค์กร เช่น การเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ด้านคุณลักษณะผ่านสื่อมวลชน การลดการเสนอข่าวความรุนแรง เป็นต้น
2. กลยุทธ์การปลูกฝังคุณลักษณะที่พึงประสงค์ โดยการบูรณาการเข้ากับการเรียนการสอน ทั้งนี้กระทรวงและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงวัฒนธรรม กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาพลังแผ่นดินเชิงคุณธรรม เขตพื้นที่การศึกษา และหน่วยงานอื่น ๆ ต้องร่วมกันกำหนดเป้าหมาย วางนโยบาย และวางแผนการเสริมสร้างคุณลักษณะอย่างมีระบบ มีกลไกนำแผนสู่การปฏิบัติ และมีการติดตามผลอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ เพื่อนำผลการประเมินมาพัฒนาแผนงานในช่วงต่อไป พันธกิจที่สำคัญ คือ การดำเนินงานโดยความร่วมมือกับสถาบันครอบครัว สถาบันศาสนา องค์กรเอกชน มูลนิธิ และสถาบันอื่นในสังคม เพื่อการประสาน ส่งเสริม สนับสนุน ให้โรงเรียน/สถานศึกษาสามารถขับเคลื่อนการพัฒนาคุณลักษณะที่พึงประสงค์ของนักเรียน ให้ได้โรงเรียน/สถานศึกษาต้นแบบการพัฒนาคุณลักษณะ ที่สามารถขยายผลต่อไปได้
3. กลยุทธ์การพัฒนาคุณลักษณะที่พึงประสงค์ของนักเรียนอย่างมีระบบ โดยเริ่มตั้งแต่ขั้นการวิจัยสำรวจความต้องการจำเป็นสำหรับการพัฒนาคุณลักษณะ การวางแผนและการออกแบบกระบวนการพัฒนาคุณลักษณะ การดำเนินการตามแผนการพัฒนาคุณลักษณะ การติดตามกำกับผลการดำเนินงานตามแผนงานรวมทั้งการประเมินคุณภาพ ประสิทธิผล ประสิทธิภาพของการดำเนินงาน และการนำผลการประเมินไปใช้ประโยชน์ในการปรับปรุงแผนงานกระบวนการพัฒนาคุณลักษณะ
4. กลยุทธ์ในการพัฒนาองค์กรแห่งการเรียนรู้ (learning organization) ประกอบด้วยกลยุทธ์การสอดแทรกการเรียนรู้เข้าไปในการปฏิบัติงานจริง การจัดประชุมเกี่ยวกับอนาคตเพื่อสร้างวิสัยทัศน์ร่วมกัน การสร้างโอกาสในการเรียนรู้ที่หลากหลาย การสร้างทักษะการเรียนรู้เป็นทีม การเรียนรู้จากการปฏิบัติงานจริงอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ และการสนับสนุนอย่างจริงจังโดยผู้บริหารที่มีวิสัยทัศน์และภาวะผู้นำ
5. กลยุทธ์การสื่อสารเพื่อสร้างกระแสสังคม ให้เกิดสำนึกสาธารณะ เชิดชูคุณธรรมจริยธรรมอันเกี่ยวเนื่องกับคุณลักษณะที่พึงประสงค์ของนักเรียน รวมทั้งการสร้างกระแสสังคมให้เกิดการเชื่อมประสาน เสริมหนุน และการขยายเครือข่ายองค์กรภาคีในด้านการพัฒนาคุณลักษณะที่พึงประสงค์อย่างต่อเนื่อง
6. กลยุทธ์การวิจัยและการจัดการองค์ความรู้ด้านคุณลักษณะที่พึงประสงค์ของนักเรียน เช่น การวิจัยพัฒนานวัตกรรมการจัดการความรู้ และกระบวนการจัดการเรียนรู้เพื่อพัฒนา คุณลักษณะ การวิจัยนำร่องเพื่อพัฒนารูปแบบ/กิจกรรมเพื่อเพิ่มพูนคุณธรรมจริยธรรม หล่อหลอมให้เกิดคุณลักษณะที่พึงประสงค์ การวิจัยเกี่ยวกับกระบวนการพัฒนาคุณลักษณะที่พึงประสงค์ผ่านสถาบันทางสังคม การวิจัยเพื่อสืบค้นและจัดทำแผนที่นักเรียน/โรงเรียน/สถานศึกษาที่มีคุณลักษณะ

นวัตกรรมการพัฒนาคุณลักษณะที่ดี
ผลการดำเนินโครงการทำให้ครูอาจารย์ในโรงเรียนได้มีการพัฒนานวัตกรรมคุณลักษณะศึกษาซึ่งสามารถจำแนกเป็นประเภทต่าง ๆ ได้ดังนี้ (คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น, 2551:33)
1. นวัตกรรมหลักสูตรแบบบูรณาการ (Integrated Curriculum Innovation) การจัดกิจกรรมบูรณาการแบบเน้นคุณธรรม (moral-focused activity) โดยการสอดแทรกการพัฒนาคุณธรรมระหว่างการพัฒนาทักษะความสามารถของนักเรียนตามจุดมุ่งหมายที่กำหนดในหลักสูตร
2. นวัตกรรมกระแสนิยม (In Trend Innovation) การจัดกิจกรรมใช้การสร้างกระแสหรือการนำค่านิยมที่เกิดขึ้นตามกระแสในช่วงนั้นมาใช้เป็นสื่อในการออกแบบกิจกรรมเพื่อดึงความสนใจของนักเรียน หรือการกำหนดกิจกรรมที่มีลักษณะการแข่งขัน เพื่อลดช่องว่างระหว่างสถานภาพของบุคคลหรือชนชั้น
3. นวัตกรรมขบวนการบูรณาการ (Integrated Process Innovation) การจัดกิจกรรมที่มีการบูรณาการกระบวนการดำเนินงานของนักเรียนในกิจกรรมต่าง ๆ อย่างต่อเนื่องเป็นระยะ ๆ มิใช่จัดกิจกรรมใดกิจกรรมหนึ่งแล้วหยุด แล้วเริ่มทำกิจกรรมอื่นต่อไปที่ไม่สัมพันธ์กับกิจกรรมเดิม
4. นวัตกรรมริเริ่มจากนักเรียนร้อยแปดแบบ (108 Student Initiations Innovation) การจัดกิจกรรมที่ให้นักเรียนเป็นผู้คิดริเริ่มและออกแบบกิจกรรม เพื่อให้ได้กิจกรรมและการขยายผลที่นำไปสู่การพัฒนาคุณลักษณะ
5. นวัตกรรมที่ทำให้เข้าระบบสถาบัน (Institutionalized Innovation) การจัดกิจกรรมที่กำหนดเป้าหมายของการดำเนินงานในระดับสูง และทำให้เป็นภารกิจปกติของโรงเรียนโดยกำหนดเป็นแผนงานหลัก
6. นวัตกรรมอิงการเรียนรู้จากการบริการ (Service Learning-Based Innovation) การจัดกิจกรรมที่จัดโอกาสให้นักเรียนเกิดการเรียนรู้จากการทำงานที่เป็นการให้บริการแก่สังคม
7. นวัตกรรมการประชุม (Forum Innovation) การจัดกิจกรรมที่ทำให้นักเรียนเกิดการเรียนรู้ผ่านการประชุมในรูปแบบของสมัชชาหรือการเสวนา เพื่อให้มีการแลกเปลี่ยนประสบการณ์การเรียนรู้ร่วมกัน
8. นวัตกรรมคุณค่าเพื่อชีวิต (Living Values Innovation) การจัดกิจกรรมโดยใช้แนวคิด “คุณค่าเพื่อชีวิต” ซึ่งพัฒนาโดยนักวิชาการชาวตะวันตก บนพื้นฐานแนวคิดของการพัฒนาจิตใจของนักเรียนให้มีความสงบ และเรียนรู้ที่จะพัฒนาตนเองให้ดำรงชีวิตอย่างมีคุณค่า
9. นวัตกรรมที่เป็นนิสัยประจำ (Routine Habit Innovation) การจัดกิจกรรมโดยครูเป็นผู้กำหนด คุณลักษณะที่จำเป็นต้องพัฒนาในตัวนักเรียนและฝึกปฏิบัติเป็นนิสัยในชีวิตประจำวัน
10. นวัตกรรมการพัฒนาตนเอง (Self-Development Innovation) การจัดกิจกรรมโดยการฝึกให้นักเรียนรู้จักประเมินตนเอง และมีการพัฒนาตนเองในรูปแบบต่าง ๆ เช่น กิจกรรมการเผากิเลส ให้นักเรียนเขียนพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมที่ตนเองได้ปฏิบัติบนกระดาษ
11. นวัตกรรมการประยุกต์ในโลกแห่งความเป็นจริง (Real World Application Innovation) การจัดกิจกรรมโดยการนำพฤติกรรมที่เกิดขึ้นในโลกแห่งความเป็นจริงมาใช้กับการแสดงพฤติกรรมในโรงเรียน
อำรุง จันทวานิช เลขาธิการสภาการศึกษา สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) กล่าวถึงการพัฒนาคุณลักษณะที่พึงประสงค์ของคนไทยว่า สกศ. ได้ศึกษาเรื่องคุณลักษณะที่พึงประสงค์ของคนไทย ซึ่งเป็นงานส่วนหนึ่งในโครงการวิถีการเรียนรู้ของคนไทย โดยเริ่มโครงการมาในสมัยที่ นายปองพล อดิเรกสาร ดำรงตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีที่กำกับดูแลงานด้านการศึกษา ขณะนี้ได้ผลสรุปจากการทำวิจัยในโครงการ แบ่งเป็น 3 เรื่องใหญ่ๆ คือ
1. คุณลักษณะที่พึงประสงค์ของคนไทย มี 2 ลักษณะ ได้แก่
1.1 คุณลักษณะร่วม คือ ลักษณะที่คนไทยควรมี มี 9 ประการ ดังนี้
1.1.1 มีความใฝ่รู้
1.1.2 ความคิดสร้างสรรค์และจินตนาการ
1.1.3 ความสามารถด้านการวิเคราะห์และสังเคราะห์
1.1.4 วินัยในตนเอง
1.1.5 ความอาทรต่อชุมชนและระบบนิเวศ
1.1.6 ความซื่อสัตย์สุจริต ยุติธรรม
1.1.7 ฉันทะและวิริยะในการงาน
1.1.8 มีความสามารถในการปรับตัว
1.1.9 มีความสามารถในการทำงานเป็นทีม
1.2 คุณลักษณะเฉพาะ คือ คนไทยควรมีลักษณะเฉพาะที่อาจแตกต่างจากชนชาติอื่น ดังนี้
1.2.1 มีความสามัคคี
1.2.2 ประนีประนอมและรู้จักให้อภัย
1.2.3 อดกลั้น
1.2.4 เมตตากรุณา
1.2.5 ละอายต่อการทำชั่ว
1.2.6 มีความรักและยึดมั่นในสัจจะ
1.2.7 กล้าหาญทางจริยธรรม
1.2.8 รับผิดชอบต่อครอบครัวและชุมชน
1.2.9 รักและยึดมั่นในอหิงสธรรม
2. ยุทธศาสตร์ในการเสริมสร้างคุณลักษณะที่พึงประสงค์ของคนไทย มี 9 ประการ
2.1 เสริมความเข้มแข็งและความเป็นปึกแผ่นให้กับระบบครอบครัว
2.2 เสริมสร้างความเข้มแข็งและความเป็นปึกแผ่นให้กับ “ สมาคมคนร่วมวัย ”
2.3 สร้างความเข้มแข็งให้กับกลไกการเรียนรู้แบบดั้งเดิมในชุมชน
2.4 สร้างและส่งเสริมองค์กรเรียนรู้สมัยใหม่ในชุมชน
2.5 จัดหรือสนับสนุนให้มีการพิมพ์หนังสือประเภทการปลูกฝังคุณค่าและประวัติบุคคล
2.6 สนับสนุนและส่งเสริมรายการที่สร้างคุณค่าและการสร้างแบบอย่างที่พึงประสงค์ผ่านสื่อมวลชน
2.7 เสริมความเข้มแข้งให้กับสถาบันศาสนา
2.8 ปรับเปลี่ยนกระบวนการเรียนรู้ในโรงเรียน
2.9 เสริมสร้างความเข้มแข็งและเป็นปึกแผ่นให้กับชุมชน
3. การพัฒนาคุณลักษณะตามช่วงวัย การจะสร้างหรือปลูกฝังคุณลักษณะที่พึงประสงค์ของคนไทยทั้งคุณลักษณะร่วมและคุณลักษณะเฉพาะควรใช้หลักคิด 4 ประการ ประกอบด้วย
3.1 หลักพัฒนาการ ในช่วงวัย 3 -5 ปี คุณลักษณะที่ควรปลูกฝังคือ การรู้จักควบคุม อารมณ์ การรู้จักถูก /ผิด ในช่วงนี้ครอบครัวจะมีอิทธิพลต่อเด็กมากที่สุด ในช่วง 6 -11 ปี ควรปลูกฝังในเรื่องการใฝ่รู้ใฝ่เรียน ความรับผิดชอบ การมีวินัยและรู้จักประหยัด ซึ่งช่วงนี้โรงเรียนจะมีอิทธิพลต่อเด็กมากที่สุดและในช่วง 12 -19 ปี ควรปลูกฝังในเรื่องอัตลักษณ์ทางสังคมและทางเพศ ช่วงนี้เพื่อนจะมีอิทธิพลต่อเด็กมากที่สุด นอกจากนี้สื่อยังมีอิทธิพลต่อเด็กและเยาวชนมากขึ้นตามลำดับ ตั้งแต่วัยอนุบาลถึงวัยรุ่น
3.2 ความเป็นไทย ความเป็นไทยถือเป็นต้นทุนทางสังคมทำให้ทุกศาสนา สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติ ซึ่งปัจจุบันไม่ได้รับการปลูกฝังเท่าที่ควร
3.3 ความรู้ทันโลก หมายถึง ความสามารถในการวิเคราะห์และการมีความคิดสร้างสรรค์
3.4 การแก้ไขจุดอ่อนของสังคมไทย เช่น ความมีวินัย ใช้จ่ายฟุ่มเฟื่อย เป็นต้น ยุทธศาสตร์ที่เหมาะสมกับแต่ละช่วงวัย มีรายละเอียดที่น่าสนใจ ดังนี้ วัยอนุบาล 3- 5 ปี นี้ เด็กควรได้รับการพัฒนาให้มีความรู้ถูกผิดและความสามารถในการควบคุมอารมณ์ได้ วัยเรียน 6 -11 ปี เด็กควรได้รับการพัฒนาให้ความความเพียรพยายามในการเรียนรู้ คิดเป็น ทำเป็น มีวินัย ประหยัด มีคุณธรรม จริยธรรม และควบคุมตัวเองได้ และวัยรุ่น 12 -19 ปี เยาวชนวัยรุ่นควรพัฒนาให้มีอัตลักษณ์ทางเพศและจิตลักษณ์ทางสังคมที่มีความรับผิดชอบ พร้อมไปกับการพัฒนาคุณธรรม จริยธรรม มีวินัย ใฝ่รู้และความประหยัด (http://www.onec.go.th/news46/pr/sala/s_491206-a.htm)

7 ความคิดเห็น:

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

ดีมากนายบทตวามนี้




^-^

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

เขียนบรรยายได้ละเอียดดีค่ะ อ่านแล้วทำให้เข้าใจขึ้นอีกระดับค่ะ

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

หนูขี้เกียจอ่านคร้า

ขอ 8 ข้อสั้นๆนะคร้า

น่าจะดีกว่า

ขอบคุณคร้า

*_*

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

ขอบคุณนะคะสำหรับบทความนี้ กำลังทำวิจัยที่เกี่ยวกับเรื่องนี้อยู่พอดี

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

ขอบคุณครับ เป็นประโยชน์ในการนำไปใช้ และอ้างอิงมากครับ

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

ขอบคุณค่ะสำหรับบทความดีๆ เพื่อเป็นแนวทางในการปฏิบัต

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

มีสาระดีมากค่ะ ขอยคุณค่ะ และขออนุญาตนำไปขยายผลสู่คุณครูต่อไปนะคะ