วันพฤหัสบดีที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2551

กิจกรรมพัฒนาผู้เรียน

ความสำคัญ
พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 กำหนดแนวการจัดการศึกษา โดยยึดหลักว่าผู้เรียนทุกคนมีความสามารถเรียนรู้และพัฒนาตนเองได้ และถือว่าผู้เรียนมีความสำคัญที่สุด กระบวนการจัดการศึกษาต้องส่งเสริมให้ผู้เรียนสามารถพัฒนาตามธรรมชาติ และเต็มตามศักยภาพ โดยจัดเนื้อหาสาระและกิจกรรมให้สอดคล้องกับความสนใจและความถนัดของผู้เรียน คำนึงถึงความแตกต่างระหว่างบุคคล ฝึกทักษะกระบวนการคิด การจัดการ การเผชิญสถานการณ์ และการประยุกต์ความรู้มาใช้ในการป้องกัน แก้ปัญหาและเรียนรู้จากประสบการณ์จริง กอปรกับมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของสังคมและเทคโนโลยี ก่อให้เกิดทั้งผลดีและผลเสียต่อการดำเนินชีวิตในปัจจุบันของบุคคล ทำให้เกิดความยุ่งยากซับซ้อนมากยิ่งขึ้น จำเป็นต้องปรับเปลี่ยนวิถีการดำเนินชีวิตให้สามารถดำรงชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างมีคุณค่า มีศักดิ์ศรี และมีความสุข
หลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน กำหนดให้มีสาระการเรียนรู้ 8 กลุ่ม และกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน ซึ่งกิจกรรมพัฒนาผู้เรียนเป็นกิจกรรมที่จัดให้ผู้เรียนได้พัฒนาความสามารถของตนเองตามศักยภาพ มุ่งเน้นเพิ่มเติมจากกิจกรรมที่ได้จัดให้เรียนรู้ตามกลุ่มสาระการเรียนรู้ทั้ง 8 กลุ่ม การเข้า ร่วมและปฏิบัติกิจกรรมที่เหมาะสมร่วมกับผู้อื่นอย่างมีความสุขกับกิจกรรมที่เลือกด้วยตนเองตามความถนัด และความสนใจอย่างแท้จริง การพัฒนาที่สำคัญ ได้แก่ การพัฒนาองค์รวมของความเป็นมนุษย์ให้ครบทุกด้าน ทั้งร่างกาย สติปัญญา อารมณ์ และสังคม โดยอาจจัดเป็นแนวทางหนึ่งที่จะสนองนโยบายในการสร้างเยาวชนของชาติให้เป็นผู้มีศีลธรรม จริยธรรม มีระเบียบวินัย และมีคุณภาพเพื่อพัฒนาองค์รวมของความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ ปลูกฝังและสร้างจิตสำนึกของการทำประโยชน์เพื่อสังคม ซึ่งสถานศึกษาจะต้องดำเนินการอย่างมีเป้าหมาย มีรูปแบบและวิธีการที่เหมาะสมกิจกรรมพัฒนาผู้เรียนแบ่งเป็น 2 ลักษณะ คือ
กิจกรรมแนะแนว เป็นกิจกรรมที่ส่งเสริมและพัฒนาความสามารถของผู้เรียนให้เหมาะสมตามความแตกต่างระหว่างบุคคล สามารถค้นพบและพัฒนาศักยภาพของตน เสริมสร้างทักษะชีวิต วุฒิภาวะทางอารมณ์ การเรียนรู้ในเชิงพหุปัญญา และการสร้างสัมพันธภาพที่ดี ซึ่งผู้สอนทุกคนต้องทำหน้าที่แนะแนวให้คำปรึกษาด้านชีวิต การศึกษาต่อและการพัฒนาตนเองสู่โลกอาชีพและการมี งานทำ
กิจกรรมนักเรียน เป็นกิจกรรมที่เกิดจากความสมัครใจของผู้เรียนพัฒนาคุณลักษณะที่พึงประสงค์เพิ่มเติมจากกิจกรรมในกลุ่มสาระ เป็นกิจกรรมที่ผู้เรียนช่วยกันคิด ช่วยกันทำ ช่วยกัน แก้ปัญหา ส่งเสริมศักยภาพของผู้เรียนอย่างเต็มที่ รวมถึงกิจกรรมที่มุ่งปลูกฝังความมีระเบียบวินัย รับผิดชอบ รู้สิทธิและหน้าที่ของตนเองในการอยู่ร่วมกันตามระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข แบ่ง ตามความแตกต่างระหว่างกิจกรรมได้เป็น 2 ลักษณะ
1. กิจกรรมพัฒนาความถนัด ความสนใจ ตามความต้องการของผู้เรียน เป็นกิจกรรมที่มุ่งเน้นการเติมเต็มความรู้ ความชำนาญและประสบการณ์ของผู้เรียนให้กว้างขวางยิ่งขึ้นเพื่อการค้นพบความถนัดความสนใจของตนเอง และพัฒนาตนเองให้เต็มศักยภาพ ตลอดจนการพัฒนาทักษะของสังคม และปลูกฝังจิตสำนึกของการทำประโยชน์เพื่อสังคม
2. กิจกรรมลูกเสือ เนตรนารี ยุวกาชาด และผู้บำเพ็ญประโยชน์ เป็นกิจกรรมที่มุ่งปลูกฝัง ระเบียบวินัย กฎเกณฑ์ เพื่อการอยู่ร่วมกันในสภาพชีวิตต่าง ๆ นำไปสู่พื้นฐานการทำประโยชน์ให้แก่สังคม และวิถีชีวิตในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ซึ่งกระบวนการจัดให้เป็นไปตามข้อกำหนดของคณะกรรมการลูกเสือแห่งชาติ ยุวกาชาด สมาคม ผู้บำเพ็ญประโยชน์และกรมรักษาดินแดน
ในทางปฏิบัติสถานศึกษาจัดกิจกรรมในลักษณะของการบูรณาการองค์ความรู้ ต่าง ๆ ที่เกื้อกูลส่งเสริมการเรียนรู้ตามกลุ่มสาระการเรียนรู้ให้มีความกว้างขวางลึกซึ้งยิ่งขึ้น อีกทั้งให้ ผู้เรียนได้ค้นพบและใช้ศักยภาพที่มีในตนอย่างเต็มที่ เลือก ตัดสินใจ ได้อย่างมีเหตุผลเหมาะสมกับ ตนเอง สามารถวางแผนชีวิตและอาชีพได้อย่างมีคุณภาพ เน้นการ เสริมสร้างทักษะชีวิต วุฒิภาวะทางอารมณ์ ศีลธรรม และจริยธรรม รู้จักสร้างสัมพันธภาพที่ดีเพื่อปรับตัวเข้ากับบุคคลและสถานการณ์ต่าง ๆ ได้อย่างดีและมีความสุข เช่น กิจกรรมการสร้างเสริมความรู้สึกรักและเห็นคุณค่าในตนเอง กิจกรรมพัฒนาวุฒิภาวะทางอารมณ์ ศีลธรรม และจริยธรรม กิจกรรมพัฒนาทักษะชีวิต กิจกรรมสร้างเสริมประสิทธิภาพการเรียน เป็นต้น กิจกรรมเหล่านี้สามารถหลอมเข้าไปในการจัด กิจกรรมลูกเสือเนตรนารี ยุวกาชาด ผู้บำเพ็ญประโยชน์ในลักษณะของการ เข้าค่ายต่าง ๆ หรืออาจแยกจัดเป็นกิจกรรมเฉพาะทางได้ เช่น จัดกิจกรรมลูกเสือ เนตรนารี ยุวกาชาด ผู้บำเพ็ญประโยชน์ โดยมุ่งเป็นการฝึกระเบียบวินัย การอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข กิจกรรมชมรมวิชาการ มุ่งเน้น ประสบการณ์ความชำนาญเฉพาะเรื่องที่ถนัดและสนใจจากการเรียนรู้กลุ่มสาระต่าง ๆ ชุมนุมต่าง ๆ เพื่อการร่วมกับคิดค้นกิจกรรมที่สร้างสรรค์ก่อให้เกิดความสนุก ความสุข และพัฒนาทักษะทางสังคม ทั้งนี้แม้จะแยกจัดกิจกรรมเฉพาะทางก็สามารถบูรณาการกิจกรรมแนะแนวเข้าไว้ด้วย เพื่อให้ค้นพบศักยภาพของตนเอง

ความหมาย
กิจกรรมพัฒนาผู้เรียน เป็นกิจกรรมที่จัดอย่างเป็นกระบวนการด้วยรูปแบบ วิธีการที่ หลากหลาย ในการพัฒนาผู้เรียนทั้งด้านร่างกาย จิตใจ สติปัญญา อารมณ์ และสังคม มุ่งเสริมเจตคติคุณค่าชีวิต ปลูกฝังคุณธรรมและค่านิยมที่พึงประสงค์ ส่งเสริมให้ผู้เรียนรู้จักและเข้าใจตนเอง สร้างจิตสำนึกในธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม ปรับตัวและปฏิบัติตนให้เป็นประโยชน์ต่อสังคม ประเทศชาติ และดำรงชีวิตได้อย่างมีความสุข

เป้าหมาย
การจัดกิจกรรมพัฒนาผู้เรียนมุ่งพัฒนาให้บุคคลรู้จักและเห็นคุณค่าในตนเองและผู้อื่น มีวุฒิภาวะทางอารมณ์ มีกระบวนการคิด มีทักษะในการดำเนินชีวิตอย่างเหมาะสม และมีความสุข มีจิตสำนึกในการรับผิดชอบต่อตนเอง ครอบครัว สังคม และประเทศชาติ โดยกำหนดเป้าหมายในการจัดกิจกรรมพัฒนาผู้เรียนดังนี้
1. ผู้เรียนได้รับประสบการณ์ที่หลากหลาย เกิดความรู้ ความชำนาญ ทั้งวิชาการและ วิชาชีพอย่างกว้างขวางมากยิ่งขึ้น
2. ผู้เรียนค้นพบความสนใจ ความถนัด และพัฒนาความสามารถพิเศษเฉพาะตัว มองเห็นช่องทางในการสร้างงาน อาชีพในอนาคตได้เหมาะสมกับตนเอง
3. ผู้เรียนเห็นคุณค่าขององค์ความรู้ต่าง ๆ สามารถนำความรู้และประสบการณ์ไปใช้ในการพัฒนาตนเอง และประกอบสัมมาชีพ
4. ผู้เรียนพัฒนาบุคลิกภาพ เจตคติ ค่านิยมในการดำเนินชีวิต และเสริมสร้างศีลธรรม จริยธรรม
5. ผู้เรียนมีจิตสำนึกและทำประโยชน์เพื่อสังคมและประเทศชาติ
หลักการจัด
กิจกรรมพัฒนาผู้เรียนมีหลักการจัดดังนี้
1. มีการกำหนดวัตถุประสงค์และแนวปฏิบัติที่ชัดเจนเป็นรูปธรรม
2. จัดให้เหมาะสมกับวัย วุฒิภาวะ ความสนใจ ความถนัด และความสามารถของผู้เรียน
3. บูรณาการวิชาการกับชีวิตจริง ให้ผู้เรียนได้ตระหนักถึงความสำคัญของการเรียนรู้ตลอดชีวิตและรู้สึกสนุกกับการใฝ่รู้ใฝ่เรียน
4. ใช้กระบวนการกลุ่มในการจัดประสบการณ์การเรียนรู้ ฝึกให้คิดวิเคราะห์ สร้างสรรค์ จินตนาการ ที่เป็นประโยชน์และสัมพันธ์กับชีวิตในแต่ละช่วงวัยอย่างต่อเนื่อง
5. จำนวนสมาชิกมีความเหมาะสมกับลักษณะของกิจกรรม
6. มีการกำหนดเวลาในการจัดกิจกรรมให้เหมาะสม สอดคล้องกับวิสัยทัศน์และ เป้าหมายของสถานศึกษา
7. ผู้เรียนเป็นผู้ดำเนินการ มีครูเป็นที่ปรึกษาถือเป็นหน้าที่และงานประจำโดยคำนึงถึงความปลอดภัย
8. ยึดหลักการมีส่วนร่วม โดยเปิดโอกาสให้ครู พ่อแม่ ผู้ปกครอง ชุมชน องค์กร ทั้งภาครัฐ และเอกชน มีส่วนร่วมในการจัดกิจกรรม
9. มีการประเมินผลการปฏิบัติกิจกรรม โดยวิธีการที่หลากหลายและสอดคล้องกับกิจกรรมอย่างเป็นระบบและต่อเนื่อง โดยให้ถือว่าเป็นเกณฑ์ประเมินผลการผ่านช่วงชั้นเรียน

แนวการจัด
สถานศึกษาต้องจัดให้ผู้เรียนทุกคนเข้าร่วมกิจกรรม โดยคำนึงถึงแนวการจัดดังต่อไปนี้
1. การจัดกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อเกื้อกูลส่งเสริมการเรียนรู้ตามกลุ่มสาระการเรียนรู้ เช่น การบูรณการโครงการ องค์ความรู้จากกลุ่มสาระการเรียนรู้ เป็นต้น
2. จัดกิจกรรมตามความสนใจ ความถนัดตามธรรมชาติ และความสามารถ ความต้องการ ของผู้เรียนและชุมชน เช่น ชมรมทางวิชาการต่าง ๆ เป็นต้น
3. จัดกิจกรรมเพื่อปลูกฝังและสร้างจิตสำนึกในการทำประโยชน์ต่อสังคม เช่น กิจกรรม ลูกเสือ เนตรนารี เป็นต้น
4. จัดกิจกรรมประเภทบริการด้านต่าง ๆ ฝึกการทำงานที่เป็นประโยชน์ต่อตนเองและ ส่วนรวม เช่น บริการห้องสมุด เพื่อนช่วยเพื่อน สหกรณ์ พยาบาล เป็นต้น


กิจกรรมต่อไปนี้เป็นกิจกรรมที่สถานศึกษาอาจเสนอแนะต่อผู้เรียน
1. กิจกรรมสร้างเสริมความรู้สึกรักและเห็นคุณค่าในตนเอง
เป็นกิจกรรมที่มุ่งสร้างเสริมความรู้สึกรักและเห็นคุณค่าในตนเอง เพื่อช่วยให้ผู้เรียนสำรวจ วิเคราะห์ประเมินตนเองตามความเป็นจริง จนกระทั่งรู้จัก เข้าใจ ยอมรับ ควบคุมและพัฒนาตนเอง มีความรู้สึกที่ดีต่อตนเองและผู้อื่น รู้ว่าตนมีความสามารถ มีคุณค่า สามารถสร้างสิ่งดีงาม ให้แก่ตนเอง ครอบครัว สังคม และดำรงชีวิตได้อย่างมีความสุข
2. กิจกรรมพัฒนาวุฒิภาวะทางอารมณ์ ศีลธรรม และจริยธรรม
เป็นกิจกรรมที่มุ่งพัฒนาวุฒิภาวะทางอารมณ์ เชาวน์ปัญญาในการแก้ปัญหา เชาวน์ปัญญา ทางด้านศีลธรรม และจริยธรรม เพื่อช่วยให้ผู้เรียนมีความสมดุลทั้งด้านจิตใจ ร่างกาย อารมณ์ และสังคม ทำให้ดำเนินชีวิตอยู่ร่วมกับผู้อื่นอย่างสร้างสรรค์ และมีความสุข ประสบความสำเร็จในชีวิตเป็นคนดี มีปัญญา และมีความสุข
3. กิจกรรมพัฒนาทักษะชีวิต
เป็นกิจกรรมที่มุ่งสร้างเสริมภูมิคุ้มกันเพื่อให้ผู้เรียนมีทักษะด้านรู้จักตนเอง ทักษะแสวงหาและใช้ข้อมูล ทักษะการคิด การตัดสินใจและแก้ปัญหา ทักษะการวางแผนและการจัดการ ทักษะการมีวิสัยทัศน์ ทักษะการกล้าเสี่ยงอย่างมีเป้าหมายและคุณธรรม ทักษะการสื่อสารและการสร้างความสัมพันธ์ อันดีกับผู้อื่น ทักษะการปรับตัว ทักษะการทำงานเป็นเพื่อสร้างเสริมความสามารถในการปรับตัวอยู่ร่วมกับผู้อื่นในสังคมได้อย่างมีความสุข เพื่อช่วยให้ผู้เรียนแสดงพฤติกรรมได้อย่างเหมาะสมกับสถานการณ์ สามารถจัดการกับความต้องการความขัดแย้ง อุปสรรคต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นได้อย่างถูกต้อง ตลอดจนสร้างสรรค์เปลี่ยนแปลงสิ่งต่าง ๆ ให้ดีขึ้นได้
4. กิจกรรมบริการแนะแนวและให้คำปรึกษา
เป็นกิจกรรมมุ่งส่งเสริมให้รักการทำงานก็เป็นประโยชน์ต่อตนเอง ส่วนรวม และมีความสามารถในการให้บริการ มีทักษะในการ ให้คำปรึกษา เพื่อช่วยให้ผู้เรียนเป็นผู้ให้การแนะแนว และให้คำปรึกษาเบื้องต้นได้ และเป็นการทำประโยชน์ให้แก่สังคม
5. กิจกรรมสร้างเสริมประสิทธิภาพในการเรียน
เป็นกิจกรรมที่มุ่งสร้างเสริมประสิทธิภาพในการเรียน เพื่อช่วยให้ผู้เรียนได้พัฒนาการเรียนรู้ของตนได้เต็มตามศักยภาพ มีเจตคติที่ดีต่อการเรียน มีนิสัยการเรียนที่ดี เห็นคุณค่าของการแสวงหาความรู้ มีเทคนิคและวิธีการเรียนที่ดี รู้ปัจจัยส่งเสริมการเรียนที่ดี และวางแผนการศึกษา และอนาคตของตนได้
6. กิจกรรมสร้างเสริมนิสัยรักการทำงาน
เป็นกิจกรรมที่มุ่งเสร้างเสริมนิสัยรักการทำงาน เพื่อช่วยให้ผู้เรียนรู้จักและเข้าใจตนเอง ปลูกฝังค่านิยมนิสัยรักการทำงาน แสดงถึงความพึงพอใจ เพียรพยายาม มุ่งมั่นที่จะทำงานให้บรรลุ ผลสำเร็จ และมีความภาคภูมิใจในผลงานของตน
7. กิจกรรมฉลาดกินฉลาดใช้
เป็นกิจกรรมที่มุ่งสร้างเสริม พัฒนาการคิด วิเคราะห์ ตัดสินใจเลือกบริโภค โดย ยึดหลักประโยชน์ ประหยัด และปลอดภัยเพื่อช่วยให้ผู้เรียนสามารถเชื่อมโยงความรู้มาใช้ให้เป็นประโยชน์ต่อการบริโภคในชีวิตประจำวันได้
8. กิจกรรมศิลปินนักอ่าน
เป็นกิจกรรมที่มุ่งสร้างเสริมพัฒนาทักษะการอ่านออกเสียงร้อยแก้วหรือร้อยกรองตามความสนใจของผู้เรียน เพื่อช่วยให้ผู้เรียนสามารถอ่านออกเสียงได้ถูกต้องตามหลักการอ่าน และได้เรียนรู้สาระต่าง ๆ ตามความสนใจ
9. กิจกรรมเพื่อนที่แสนดี
เป็นกิจกรรมที่มุ่งสร้างเสริม พัฒนาให้มีความสามารถปรับปรุงตนเองในการปฏิบัติต่อผู้อื่นได้อย่างเหมาะสมช่วยให้ผู้เรียนได้ ปฏิบัติตนช่วยเหลือผู้อื่นที่เดือดร้อนได้
10. กิจกรรมสร้างเสริมนิสัยการทำประโยชน์เพื่อสังคม
เป็นกิจกรรมที่มุ่งสร้างเสริมนิสัยการทำประโยชน์เพื่อสังคม เพื่อช่วยให้ผู้เรียนรู้จักและเข้าใจตนเอง ปลูกฝังคุณลักษณะนิสัยที่เอื้อต่อการทำประโยชน์เพื่อสังคม เห็นแนวทางที่จะทำประโยชน์ ให้กับสังคม และสามารถนำไปปฏิบัติในชีวิตประจำวันได้
11. กิจกรรมพิทักษ์ป่า
เป็นกิจกรรมที่มุ่งสร้างเสริมกระบวนการอนุรักษ์และพัฒนาป่าแก่ผู้เรียนโดยการเข้าค่ายในป่ามีการออกระเบียบกฎเกณฑ์ของการอยู่ร่วมกันในค่าย การเดินทางไกลพัฒนาทักษะการสังเกต คิด ตัดสินใจ แก้ปัญหาและคิดสร้างสรรค์ในการอนุรักษ์และพัฒนาป่า
12. กิจกรรม เรียนรู้ร่วมกัน
เป็นกิจกรรมที่สร้างเสริม สนับสนุนให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ร่วมกัน และฝึกทักษะในการเป็นผู้ช่วยเหลือ แสดงความเมตตา กรุณา ทุกคนร่วมปฏิญาณตนเพื่อปฏิบัติตามกฎ ผู้บำเพ็ญประโยชน์ ได้เรียนรู้กระบวนการกลุ่มในการอยู่ร่วมกัน สามารถค้นพบความสามารถ สนใจ และเรียนรู้ทักษะใหม่ ๆ
นอกจากกิจกรรมต่าง ๆ ที่เสนอแนะไว้แล้วข้างต้น ผู้เรียนอาจเสนอกิจกรรมอื่น ๆ ได้ตามความต้องการ และความสนใจ เช่น กิจกรรมทำหนังสือรุ่น กิจกรรมทำหนังสือพิมพ์โรงเรียนเป็นต้น
กิจกรรมเพื่อสร้างจิตสำนึกในการทำประโยชน์ต่อสังคม คือลูกเสือ-เนตรนารี ยุวกาชาด ผู้บำเพ็ญประโยชน์ และรักษาดินแดน เป็นกิจกรรมที่มุ่งจัดฝึกอบรมบ่มนิสัย ให้เป็นพลเมืองดีตามจารีตประเพณีของชาติ บ้านเมืองและตามอุดมคติ อุดมการณ์ของลูกเสือ-เนตรนารี ยุวกาชาด ผู้บำเพ็ญประโยชน์ และ รักษาดินแดน โดยดำเนินการจัดกิจกรรมให้เป็นไปตามข้อกำหนดของคณะกรรมการลูกเสือแห่งชาติ ยุวกาชาด สมาคมผู้บำเพ็ญประโยชน์ และกรมรักษาดินแดน
บทบาทของบุคลากรที่เกี่ยวข้อง
ในการดำเนินการจัดกิจกรรมพัฒนาผู้เรียนให้มีประสิทธิผล จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องกำหนดบทบาทหน้าที่ของบุคลากรที่เกี่ยวข้อง สถานศึกษาจะสามารถนำไปปรับปรุงและเลือกปฏิบัติได้ตามความเหมาะสมและความพร้อมของแต่ละสถานศึกษา คือ
1. บทบาทของคณะกรรมการสถานศึกษา
ตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 หมวด 4 มาตรา 29 และหมวด 5 มาตรา 40 ที่มุ่งเน้นให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาและให้มีคณะกรรมการสถานศึกษาขั้น พื้นฐาน เพื่อทำหน้าที่ กำกับ และส่งเสริมสนับสนุนในการบริหารจัดการในสถานศึกษานั้น คณะกรรมการสถานศึกษาควรมีบทบาทในการจัดกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน ดังนี้
1.1 ให้ความเห็นชอบ มีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบาย เป้าหมายและดำเนินการ
1.1.1 มีส่วนร่วมในการวางแผน วิเคราะห์การจัดกิจกรรมของสถานศึกษา
1.1.2 ให้ความเห็นชอบแผนการจัดกิจกรรมของสถานศึกษา
1.1.3 มีส่วนร่วมในการดำเนินการจัดกิจกรรมให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
1.1.4 มีส่วนร่วมในการประเมินผล เพื่อปรับปรุงและพัฒนาในโอกาสต่อไป
1.2 ส่งเสริม สนับสนุน การดำเนินการจัดกิจกรรมของสถานศึกษาในด้านต่าง ๆ
1.2.1 ด้านงบประมาณ กรรมการสถานศึกษาต้องมีส่วนในการจัดหางบประมาณ สนับสนุนการจัดกิจกรรม วัสดุภัณฑ์ เครื่องมืออุปกรณ์ต่าง ๆ ในการปฏิบัติกิจกรรม
1.2.2 เป็นวิทยากรและแนะนำวิทยากร คณะกรรมการสถานศึกษาส่วนใหญ่ประกอบ ด้วย ผู้ทรงคุณวุฒิในสาขาต่าง ๆ ผู้แทนองค์กรปกครองท้องถิ่น ผู้แทนชุมชน ผู้แทนผู้ปกครอง และศิษย์เก่า ซึ่งล้วนแต่มีศักยภาพในตัวเอง ฉะนั้นจึงสามารถเป็นวิทยากรหรือจัดหาวิทยากรภายนอกในกรณีที่ขาดผู้เชี่ยวชาญเฉพาะสาขาที่กำหนดในกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน
1.2.3 ให้คำปรึกษาและส่งเสริมการใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่น ในการจัดกิจกรรมพัฒนา ผู้เรียน ควรกำหนดให้สอดคล้องกับภูมิปัญญาท้องถิ่น เพื่อส่งเสริมให้ผู้เรียนเห็นคุณค่าของวัฒนธรรมท้องถิ่น และตระหนักในหน้าที่ในการสืบทอดมรดกทางวัฒนธรรมของท้องถิ่น
1.2.4 เป็นแหล่งศึกษาและแหล่งข้อมูล กรรมการสถานศึกษาจะต้องมีการประสานสัมพันธ์กับแหล่งการเรียนรู้ในท้องถิ่น ที่เป็นโรงงาน สถานประกอบการ แหล่งวิทยาการต่าง ๆ เพื่อให้ความร่วมมือในการใช้เป็นแหล่งฝึกปฏิบัติกิจกรรม และเป็นแหล่งศึกษาดูงานตามความต้องการของผู้เรียนในแต่ละกิจกรรม
2. บทบาทของผู้บริหารสถานศึกษา
บทบาทของผู้บริหารสถานศึกษา ในการจัดกิจกรรมพัฒนาผู้เรียนของสถานศึกษา มีดังนี้
2.1 กำหนดโยบายและแนวทางปฏิบัติ
ผู้บริหารสถานศึกษาร่วมกับคณะกรรมการกิจกรรมพัฒนาผู้เรียนหรือหัวหน้า กิจกรรมพัฒนาผู้เรียน กำหนดนโยบายและแนวทางปฏิบัติดังนี้
2.1.1 ศึกษาหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2544 และคู่มือการจัดกิจกรรมพัฒนาผู้เรียนตามคำสั่งของกระทรวงศึกษาธิการ
2.1.2 กำหนดระเบียบและหลักเกณฑ์การจัดกิจกรรมพัฒนาผู้เรียนของสถานศึกษา
2.1.3 ศึกษาข้อมูล แหล่งวิทยาการการเรียนรู้ในชุมชนและท้องถิ่น
2.1.4 กำหนดและมอบหมายบุคลากรที่เกี่ยวข้องในการจัดกิจกรรมพัฒนาผู้เรียนในสถานศึกษา
2.2 นิเทศและติดตาม
2.2.1 นิเทศและติดตามการจัดทำแผนงาน โครงการ ปฏิทินงานของหัวหน้าหมวด กิจกรรมพัฒนาผู้เรียนและอนุมัติให้ความเห็นชอบ
2.2.2 นิเทศ ติดตามการดำเนินงานกิจกรรมพัฒนาผู้เรียนอย่างต่อเนื่องให้เป็นไปตามระเบียบข้อบังคับของสถานศึกษาและเป้าหมายของการจัดกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน
2.3 ส่งเสริมสนับสนุน
2.3.1 ให้มีการจัดกิจกรรมที่หลากหลาย สอดคล้องกับความต้องการของผู้เรียน
2.3.2 ส่งเสริมการจัดกิจกรรมที่เน้นวัฒนธรรมหรือภูมิปัญญาท้องถิ่น
2.3.3 สนับสนุนทรัพยากรที่เกี่ยวข้องในการจัดกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน
2.3.4 ให้คำปรึกษาแก่บุคลากรที่เกี่ยวข้องในการจัดกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน
2.4 ประเมินและรายงาน
2.4.1 รับทราบผลการประเมินพร้อมทั้งเสนอแนะแนวทางการจัดกิจกรรมพัฒนาผู้เรียนเพื่อเป็นประโยชน์ในการจัดกิจกรรมในภาคเรียนต่อไป
2.4.2 รายงานการจัดกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน ให้คณะกรรมการสถานศึกษาทราบเพื่อเป็นประโยชน์ในการจัดกิจกรรมในภาคเรียนต่อไป
3. บทบาทของหัวหน้ากิจกรรมพัฒนาผู้เรียน
บทบาทของหัวหน้ากิจกรรมพัฒนาผู้เรียน ในการจัดกิจกรรมพัฒนาผู้เรียนของสถานศึกษามีดังนี้
3.1 สำรวจข้อมูลความพร้อม ความต้องการและสภาพปัญหา
ดำเนินการสำรวจข้อมูลความพร้อม ความต้องการ และสภาพปัญหาของ สถานศึกษา ชุมชน ท้องถิ่น และผู้เรียน เพื่อเตรียมความพร้อม ในการจัดกิจกรรมให้สอดคล้องกับความต้องการและปัญหาของผู้เรียน
3.2 จัดประชุมครูที่ปรึกษากิจกรรมพัฒนาผู้เรียน
ประชุมครูที่ปรึกษากิจกรรมพัฒนาผู้เรียนเพื่อร่วมกันกำหนดแนวทางในการจัดกิจกรรม ให้มีความเหมาะสมกับสภาพความต้องการและปัญหาของสถานศึกษา ชุมชน ท้องถิ่น และผู้เรียน
3.3 จัดทำแผนงาน โครงการ และปฏิทินงานกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน
จัดทำและรวบรวม แผนงาน โครงการ ปฏิทินงานกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน โดยกำหนดเป็นรายภาคเรียน หรือรายปีการศึกษาหรือตามระยะเวลาที่กำหนดและเสนอขออนุมัติต่อผู้บริหารสถานศึกษา
3.4 ให้คำปรึกษาแก่ครูที่ปรึกษากิจกรรมพัฒนาผู้เรียน และผู้เรียน
มีหน้าที่ให้คำปรึกษา เพื่อช่วยให้การดำเนินการจัดกิจกรรมพัฒนาผู้เรียนให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
3.5 นิเทศ ติดตาม และประสานงานการดำเนินการจัดกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน
ประสานงานและอำนวยความสะดวกให้การจัดกิจกรรมพัฒนาผู้เรียนดำเนินไปด้วยความเรียบร้อย และนิเทศ ติดตามให้เป็นไปตามระเบียบและหลักเกณฑ์การจัดกิจกรรมพัฒนาผู้เรียนของสถานศึกษา
3.6 รวบรวมผลการประเมินการจัดกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน
รวบรวมผลการประเมินการจัดกิจกรรมพัฒนาผู้เรียนจากครูที่ปรึกษากิจกรรมตลอดจนปัญหาและอุปสรรค ในการจัดกิจกรรม และนำเสนอแนวทางในการพัฒนาการจัดกิจกรรมพัฒนา ผู้เรียนต่อผู้บริหารสถานศึกษา
4. บทบาทของครูที่ปรึกษากิจกรรมพัฒนาผู้เรียน
ครูทุกคนต้องเป็นครูที่ปรึกษากิจกรรมพัฒนาผู้เรียนตามคำขอของผู้เรียนหรือตามที่สถานศึกษามอบหมาย ซึ่งจะต้องมีบทบาทดังต่อไปนี้
4.1 ปฐมนิเทศ
ปฐมนิเทศให้ผู้เรียนเข้าใจเป้าหมายและวิธีการดำเนินการจัดกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน
4.2 เลือกตั้งคณะกรรมการ
จัดให้ผู้เรียนเลือกตั้งคณะกรรมการดำเนินกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน
4.3 ส่งเสริมการจัดทำแผนงาน/โครงการ
ส่งเสริมให้ผู้เรียนที่เป็นสมาชิกของกิจกรรมร่วมแสดงความคิดเห็นในการจัดทำแผนงาน/โครงการและปฏิทินการปฏิบัติงานอย่างอิสระ
4.4 ประสานงาน
ประสานงานและอำนวยความสะดวกในด้านทรัพยากรตามความเหมาะสม
4.5 ให้คำปรึกษา
ให้คำปรึกษา ดูแล ติดตามการจัดกิจกรรมของผู้เรียนให้เป็นไปตามแผนงานด้วยความเรียบร้อยและปลอดภัย
4.6 ประเมินผล
ประเมินผลการเข้าร่วมและการปฏิบัติกิจกรรมของผู้เรียน
4.7 สรุปและรายงานผล
สรุปและรายงานผลการจัดกิจกรรมต่อหัวหน้ากิจกรรมพัฒนาผู้เรียน
5. บทบาทของผู้เรียน
ผู้เรียนทุกคนมีบทบาทในกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน ดังนี้
5.1 เข้าร่วมกิจกรรมตามความสนใจ ความถนัด และความสามารถ
ผู้เรียนทุกคนต้องเข้าร่วมกิจกรรม ตามความถนัดและความสนใจทุกภาคเรียน โดย รวมกลุ่มเสนอกิจกรรมตามความต้องการหรืออาจเข้าร่วมกิจกรรมตามข้อเสนอแนะของสถานศึกษา
5.2 รับการปฐมนิเทศจากครูที่ปรึกษากิจกรรมพัฒนาผู้เรียน
ผู้เรียนจะต้องพบครูที่ปรึกษากิจกรรม เข้ารับการปฐมนิเทศ รับฟังข้อเสนอแนะต่าง ๆ เพื่อเข้าร่วมและดำเนินการจัดกิจกรรมได้อย่างถูกต้องเหมาะสม
5.3 ประชุมเลือกตั้งคณะกรรมการฝ่ายต่าง ๆ
ประชุมเลือกตั้งคณะกรรมการฝ่ายต่าง ๆ ประกอบด้วย ประธาน เลขานุการ เหรัญญิก นายทะเบียน และอื่นๆ ตามความเหมาะสม
5.4 ประชุมวางแผน จัดทำ แผนงาน โครงการ และปฏิทินงาน
การดำเนินกิจกรรมให้บรรลุตามวัตถุประสงค์ จำเป็นต้องมีการวางแผนในการดำเนินงาน ที่ประชุมควรเปิดโอกาสให้ทุกคนมีส่วนร่วมในการวางแผน และจัดทำโครงการปฏิทินงานที่กำหนดวัน เวลา ไว้อย่างชัดเจน แล้วนำเสนอต่อครูที่ปรึกษากิจกรรม
5.5 ปฏิบัติกิจกรรมตามแผนงาน โครงการ และปฏิทินงานที่ได้กำหนดไว้
เมื่อแผนงาน โครงการ และปฏิทินงานได้รับอนุมัติจากผู้บริหารสถานศึกษาแล้ว ผู้เรียนจึงจะสามารถปฏิบัติกิจกรรมตามแผนงาน โครงการและปฏิทินงานที่ได้กำหนดไว้ในรูปแบบของคณะกรรมการที่ได้รับการเลือกตั้งโดยใช้กระบวนการกลุ่ม และให้ผู้เรียนทุกคนได้พัฒนาตนเองให้เต็มศักยภาพ ตามความสนใจ ความถนัด และความสามารถ
5.6 ประเมินผลการปฏิบัติกิจกรรม
การประเมินผลการปฏิบัติกิจกรรมสามารถประเมินผลได้ดังนี้
5.6.1 ประเมินผลเป็นระยะอย่างต่อเนื่อง
5.6.2 ประเมินตนเองและประเมินเพื่อนร่วมกิจกรรม จากพฤติกรรมและคุณภาพของงาน
5.7 สรุปผลการปฏิบัติกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน
เมื่อปฏิบัติกิจกรรมเสร็จสิ้นตามโครงการแล้วคณะกรรมการดำเนินกิจกรรมจะต้องประชุมเพื่อสรุปผลการปฏิบัติกิจกรรมและนำเสนอครูที่ปรึกษากิจกรรม
6. บทบาทของผู้ปกครองและชุมชน
ผู้ปกครองมีบทบาทในการจัดกิจกรรมพัฒนาผู้เรียนดังนี้
6.1 ร่วมมือประสานงาน
ร่วมมือกับสถานศึกษาในการจัดกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน
6.2 ส่งเสริมสนับสนุน
6.2.1 ให้โอกาสผู้เรียน ได้ใช้สถานประกอบการเป็นแหล่งเรียนรู้
6.2.2 เป็นวิทยากรให้ความรู้ และประสบการณ์
6.2.3 ให้การสนับสนุน วัสดุ อุปกรณ์ งบประมาณ ในการจัดกิจกรรมพัฒนาผู้เรียนดูแลเอาใจใส่ผู้เรียนและให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการป้องกัน แก้ไข และพัฒนาผู้เรียน
6.3 ติดตาม ประเมินผล
6.3.1 ร่วมมือกับสถานศึกษาเพื่อติดตามพัฒนาการของผู้เรียน
6.3.2 บันทึกสรุปพัฒนาการ และการปฏิบัติกิจกรรมของผู้เรียน

ขั้นตอนการดำเนินการจัด
1. ประชุมชี้แจงคณะครู ผู้เรียน ผู้ปกครอง เพื่อสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับการจัดกิจกรรมพัฒนาผู้เรียนตามหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน
2. พิจารณาวิสัยทัศน์ของสถานศึกษา
3. สำรวจข้อมูล
3.1 ความพร้อมของสถานศึกษา ชุมชน และท้องถิ่น
3.2 สภาพปัญหา และความต้องการของผู้เรียน
4. ร่วมกันวางแผนระหว่างคณะครู ผู้เรียนและผู้เกี่ยวข้อง จัดทำแผนงาน โครงการปฏิทินปฏิบัติงาน กิจกรรมพัฒนาผู้เรียน ทุกภาคเรียน และเสนอขออนุมัติ
5. ปฏิบัติกิจกรรมตามแผนงาน โครงการ ปฏิทินปฏิบัติงาน กิจกรรมพัฒนาผู้เรียนที่กำหนดไว้
6. นิเทศ ติดตามและประเมินผลการปฏิบัติงาน
7. สรุป รายงานผลการปฏิบัติงาน


การประเมินผล
การประเมินผลการจัดกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน เป็นเงื่อนไขสำคัญประการหนึ่ง สำหรับการผ่านช่วงชั้นหรือจบหลักสูตร ผู้เรียนต้องเข้าร่วมและปฏิบัติกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน ตลอดจน ผ่านการประเมินตามเกณฑ์ที่สถานศึกษากำหนดโดยครูที่ปรึกษากิจกรรม ผู้เรียน และผู้ปกครอง มีส่วนร่วมตามแนวประเมินดังนี้
1. การประเมินกิจกรรมพัฒนาผู้เรียนรายกิจกรรม
1.1 ประเมินการปฏิบัติกิจกรรมของผู้เรียนตามจุดประสงค์ของแต่ละกิจกรรม โดยประเมินจากพฤติกรรมการปฏิบัติกิจกรรมและผลการปฏิบัติกิจกรรมด้วยวิธีการที่หลากหลายตามสภาพจริง
1.2 ตรวจสอบเวลาเข้าร่วมกิจกรรมของผู้เรียนว่าเป็นไปตามเกณฑ์ที่สถานศึกษากำหนดไว้หรือไม่
1.3 ในกรณีที่มีกิจกรรมใดต้องใช้เวลาปฏิบัติตลอดปี เมื่อสิ้นภาคเรียนแรกผู้รับผิดชอบกิจกรรมควรจัดให้มีการประเมินการปฏิบัติกิจกรรมของผู้เรียน เพื่อสรุปความก้าวหน้าและสภาพของการปฏิบัติกิจกรรมของผู้เรียนระยะหนึ่งก่อน เพื่อการปรับปรุงแก้ไขหรือส่งเสริมการปฏิบัติกิจกรรมของผู้เรียนให้เป็นไปอย่างถูกต้องและมีประสิทธิภาพ และรายงานผลการประเมินนั้นไปรวมกับผลการประเมินการร่วมกิจกรรมในภาคเรียนที่สอง เพื่อตัดสินผลการประเมินการผ่านจุดประสงค์สำคัญของกิจกรรม เมื่อสิ้นสุดปีการศึกษา (สิ้นสุดกิจกรรม)
1.4 ตัดสินใจให้ผู้เรียนที่ผ่านจุดประสงค์สำคัญของกิจกรรมและมีเวลาเข้าร่วมกิจกรรมครบตามเกณฑ์ ให้เป็นผู้ผ่านการประเมินผลการรวมกิจกรรม ผู้เรียนที่มีผลการประเมินบกพร่องในเกณฑ์ใดเกณฑ์หนึ่งหรือทั้งสองเกณฑ์ จะเป็นผู้ไม่ผ่านการประเมินการร่วมกิจกรรม จะต้องซ่อมเสริมข้อบกพร่องให้ผ่านเกณฑ์ก่อน จึงจะได้รับการตัดสินให้ผ่านกิจกรรม
2. การประเมินกิจกรรมพัฒนาผู้เรียนผ่านช่วงชั้น
เป็นการประเมินสรุปผลการผ่านกิจกรรมตลอดช่วงชั้นของผู้เรียนแต่ละคน เพื่อนำผลไปพิจารณาตัดสินการผ่านช่วงชั้นโดยมีขั้นตอนปฏิบัติดังนี้
2.1 กำหนดให้มีผู้รับผิดชอบในการรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับการร่วมกิจกรรมพัฒนาผู้เรียนของผู้เรียนทุกคนตลอดช่วงชั้น
2.2 ผู้รับผิดชอบสรุปและประเมินผลการร่วมกิจกรรมพัฒนาผู้เรียนเป็นรายบุคคล ตามเกณฑ์ที่สถานศึกษากำหนด
2.3 นำเสนอผลการประเมินต่อคณะกรรมการบริหารหลักสูตรและวิชาการเพื่อให้ความเห็นชอบ
2.4 เสนอผู้บริหารสถานศึกษาพิจารณาตัดสินและอนุมัติการประเมินกิจกรรมพัฒนาผู้เรียนผ่านช่วงชั้นต่อไป
3. เกณฑ์การผ่านกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน
3.1 ผู้เรียนเข้าร่วมกิจกรรมโดยมีเวลาเข้าร่วมกิจกรรม และปฏิบัติกิจกรรมตามเกณฑ์ที่สถานศึกษากำหนด
3.2 ผู้เรียนผ่านจุดประสงค์ที่สำคัญของแต่ละกิจกรรมตามที่สถานศึกษากำหนด (กรมวิชาการ,2544)

2 ความคิดเห็น:

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

ขอบคุณสำหรับข้อมูลดีๆครับ

ฑีฆะ-รัสสะ กล่าวว่า...

ขอบคุณครับ