วันพฤหัสบดีที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2551

สุขภาพจิต

ความหมายของสุขภาพจิต
เมื่อกล่าวถึงคำว่า “สุขภาพจิต” (Mental health) นั้นได้มีผู้ให้คำจำกัดความต่างๆ กันไป ในที่นี้จะขอนำเสนอความหมายที่สำคัญๆ ที่ควรทราบดังนี้
อริสโตเติล ปราชญ์ชาวกรีกกล่าวว่าสุขภาพจิต เป็นเรื่องของการปรับตัวให้มีความสมดุลระหว่างหน้าที่การงาน ความรัก และสันทนาการ เพราะในทุกสังคม จะมีการทำงาน ความรักและสันทนาการ เป็นกิจกรรมประจำของมนุษย์
องค์การอนามัยโลก (WHO) อธิบายว่า หมายถึง ความสามารถทางจิตใจของบุคคลที่จะปรับตัวให้มีความสุขเข้ากับสังคมและสิ่งแวดล้อได้ด้วยดี มีสัมพันธภาพที่ดีงามกับบุคคลอื่นและสามารถดำเนินชีวิตด้วยความสมดุลความสุขสบายใจ รวมทั้งสามารถตอบสนองความต้องการของตนเองในสังคมที่กำลังเปลี่ยนแปลโดยไม่มีความขัดแย้งภายในจิตใจ ไม่เฉพาะผู้ที่ปราศจากอาการของโรคจิต หรือโรคประสาทเท่านั้น
ฝน แสงสิงแก้ว อธิบายว่าสุขภาพจิต หมายถึง สภาพชีวิตที่เป็นสุข ผู้ที่มีสุขภาพจิตดีเป็นผู้ที่มีร่างกายและจิตใจเป็นสุขปราศจากโรคจิตโรคประสาท สามารถปรับตัวได้อย่างเหมาะสมในสังคมโดยไม่มีข้อขัดแย้งภายในจิตใจมีความมั่นคงทางใจ มีสมรรถภาพในการทำงานสามารถอยู่ร่วมกับผู้อื่นด้วยความพอใจมีความสัมพันธ์กับผู้อื่นได้อย่างมีความสุขมีบุคลิกภาพที่เอื้ออำนวยให้เกิดการแสดงพฤติกรรมที่พึงปรารถนาสามารถทำประโยชน์ให้แก่ทั้งตนเองและสังคมได้อย่างมีประสิทธิภาพ
สุชา จันทน์เอม ได้ให้ความหมายสุขภาพจิตหมายถึง สมรรถภาพในการปรับปรุงตนเองให้เข้ากับคนอื่นๆและสิ่งแวดล้อมได้ดี (Adjust Person) มีความสามารถในการสร้างสรรค์ (Productive Person) มีทัศนคติที่ดีต่อสังคม มีความคิดที่ถูกต้องแก้ปัญหาในการดำเนินชีวิตได้อย่างเหมาะสมสามารถทำประโยชน์ให้แก่ตนเองและสังคมได้อย่างมีประสิทธิภาพ และคนที่มีสุขภาพจิตดีย่อมมีความคิดดี มีร่างกายแข็งแรงควบคู่ให้ด้วยเสมอ มีอารมณ์มั่นคง รู้จักใช้ความสามารถของตนที่เป็นประโยชน์ให้แก่สังคมอย่างเต็มที่และดำรงชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างมีชีวิตชีวาด้วยความสนุกรื่นเริง (Zest for life)
สุจริต สุวรรณชีพ อธิบายว่สุขภาพจิตเป็นสภาพจิตใจทีมีความเข็มแข็ง สามารถแก้ปัญหาได้ และสามารถปรับจิตใจให้มีความสุขได้อย่างเหมาะสมกับสภาพที่เป็นจริงในการดำรงชีวิต โดยทั่วไปแล้วสุขภาพจิตของมนุษย์นั้น จะมีลักษณะไม่คงที่เปลี่ยนกลับไปกลับมาสุขบ้างทุกข์บ้างไม่เสนอไป ทั้งนี้เกิดจากแรงผลักดันทั้งภายในตนเอง จากผู้คนในสังคมได้อย่างมีประสิทธิภาพ
เบอร์นาร์ด ได้ให้ความหมายว่าสุขภาพจิต หมายถึง ความสามารถปรับตัวให้เข้ากับตนเอง ผู้อื่นและโลกว้างอย่างมีประสิทธิภาพ มีความพึงพอใจ มีความสุขและมีความเห็นอกเห็นใจผู้อื่นที่อยู่ร่วมในสังคม มีความสามารถที่จะเผชิญหน้า และยอมรับความเป็นจริงของชีวิตโดยมีความประมาณตน มีความพอดีทั้งกับตนเองและชนชั้นของสังคม บุคคลที่มีสุขภาพจิตดีจะมีความตึงเครียดน้อย สามารถควบคุมสติของตนให้มั่นคงไม่ว่าจะอยู่ในสถานการณ์ใดๆ ก็ตาม
กลาสเซอณ์ ให้คำจำกัดความว่าสุขภาพจิตมีความหมายเช่นเดียวกับการปรับตัว กล่าวคือเป็นความสามารถของบุคคลที่จะสนองความต้องการในด้านต่างๆของตนได้สำเร็จ โดยไม่ไปขัดกับความต้องการของผู้อื่น ซึ่งควรต้องการดังกล่าวนั้นได้แก่ความต้องการที่จะเป็นที่รักของผู้อื่น ต้องการรู้สึกว่าตนเองและผู้อื่นมีคุณค่า ผู้ที่มีสุขภาพจิตดีนั้นจะสามารถปรับตัว และมีพฤติกรรมในทางที่ทำให้เกิดความรู้สึกว่าตนมีคุณค่า และผู้อื่นก็มีคุณค่าใน ขณะเดียวกัน โดยที่การปรับตัวดังกล่าวจะเป็นไปตลอดชีวิตจากความหมายและคำจำกัดความต่างๆ ดังกล่าวสามารถสรุปได้ว่า สุขภาพจิต หมายถึง ความสมบูรณ์ ทางจิตใจของมนุษย์ที่จะช่วยให้เขาสามารถดำรงชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างเป็นสุขปราศจากโรคจิตโรคประสาท มีความสามารถในการปรับตัวได้อย่างเหมาะสม สามารถรัดสินใจและแก้ปัญหาต่างๆ ได้ มีความมั่นคงทางจิตใจ และสามารถยอมรับและเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงต่างๆ ของชีวิต กล้าเผชิญกับปัญหา มีสมรรถภาพในการทำงาน มี สัมพันธ์ภาพที่ดีกับผู้อื่นและสามารถดำเนินชีวิตได้อย่างปกติสุข เป็นประโยชน์แก่ตนเอง ผู้อื่น สังคมและประเทศชาติ
(http://www.supapornka.th.gs/web-s/upapornka/folder/11.htm)
สรุปได้ว่าสุขภาพจิต หมายถึง ความสมบูรณ์ทางร่างกายและทางจิตใจของมนุษย์ ซึ่งจะช่วยให้มนุษย์สามารถดำรงชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างเป็นสุข ปราศจากโรคจิต โรคประสาท มีความสามารถในการปรับตัวและอยู่ในสังคมได้อย่างเหมาะสม มีความมั่นคงทางอารมณ์ ตระหนักรู้ในตนเองทั้งด้านบวกและด้านลบตามศักยภาพแห่งตน มีสมรรถภาพในการทำงานมีสัมพันธภาพต่างๆ ที่ดีกับบุคคลอื่นและสามารถทำประโยชน์ให้แก่ตนเองและสังคมได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ความสำคัญของสุขภาพจิต
ในสังคมปัจจุบันนี้ทุกชีวิตต้องเผชิญปัญหามากมาย แก้ปัญหานี้เสร็จก็มีปัญหาอื่นๆเข้ามาให้ขบคิดมากมาย บางคนก็ค่อยๆ สะสางปัญหาไปทีละปล้องทีละปล้องค่อยๆ แก้ค่อยๆ คลาย แต่บางคนยิ่งแก้ปัญหาก็ยิ่งพันตัว ดูวุ่นวายไปหมด และก็มีอีกหลายชีวิตที่ใช้วิธีแก้ปัญหาโดยการหันหลังให้กับความจริง และท้ายที่สุดก็ย้ายตัวเองไปอยู่บ้านใหม่ที่ตัวเองไม่รู้จักและไม่รู้จักใครอีกเลย มีหลายชีวิตที่แก้ปัญหาหนักไปอีกคือการทำร้ายตัวเอง ตั้งแต่เสพย์ยาเสพติดจนถึงการทำร้ายชีวิตตนคือการฆ่าตัวตาย
ความสำคัญระดับชาติ ตั้งแต่แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 5 จนถึงปัจจุบันนโยบายที่เกี่ยวกับสุขภาพจิตซึ่งสาระสำคัญของนโยบายที่เกี่ยวกับสุขภาพจิต ได้แก่ การพัฒนาคุณภาพประชากร โดยการส่งเสริมเรื่องสุขภาพอนามัยทั้งทางร่างกายและจิตใจของประชากร และเร่งพัฒนาคุณภาพจิตใจของประชากรโดยระดมสรรพกำลังจากทุกหน่วยของรัฐและเอกชน ตลอดทั้งสถาบันต่าง ๆ ทางสังคม โดย เฉพาะสถาบันครอบครัว ส่วนแผนงานสุขภาพจิตในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 5 ดังกล่าว ได้ระบุถึง เป้าหมายของแผนงานสุขภาพจิตขอบข่ายของงานสุขภาพจิตซึ่งเน้นทั้งในเรื่องราวการป้องกัน การบำบัดรักษา และการส่งเสริมสุขภาพจิต สำหรับสาระสำคัญของเป้าหมายของ แผนงานสุขภาพจิต ได้แก่ การมุ่งแก้ปัญหาสุขภาพจิต โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มประชากรที่เสี่ยงต่อการเป็นโรค เพื่อให้บรรลุผลในระยะยาวคือ สุขภาพดีถ้วนหน้าเมื่อสองห้าสี่สามและปรับปรุงของเขตของงานสุขภาพจิต โดยเน้นเรื่องการป้องกันและส่งเสริม สุขภาพจิต พร้อมทั้งจัดข่ายงานให้สามารถ ครอบคลุมประชากรได้อย่างทั่วถึง ทั้งในเขตเมืองและเขตชนบทเป็นต้น จากแผนนี้จะเห็นว่าบิดา มารดา ครู อาจารย์ เป็นกลุ่มบุคคลต่างๆที่สามารถจะร่วมงานหรือประสานงานกับบุคคลต่างๆในสังคมทั้งนี้เพื่อจะช่วยส่งเสริมให้แต่ละบุคคลไม่ว่าจะเป็นเด็กหรือผู้ใหญ่ ได้เจริญเติบโตและสุขสมบูรณ์ทั้งทางร่างกายและจิตใจ ตลอดทั้งเพื่อหาวิถีทางที่จะป้องกันและบำบัดรักษา แก้ไข หากมีสิ่งใดสิ่งหนึ่งบกพร่องหรือมีความโน้มเอียงไปสู่ความผิดปกติด้วยเหตุนี้ จึงเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งที่นักศึกษา ครูอาจารย์ตลอดทั้งบิดามารดาควรจะต้องทำความเข้าใจเกี่ยวกับสาระสำคัญต่างๆ ของสุขภาพจิตเพื่อจะได้ทราบและสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันได้อย่างเหมาะสมนอกจากนี้แล้ววิชาจิตวิทยายังมุ่งหวังให้นักศึกษามีความเข้าใจในธรรมชาติของมนุษย์ตลอดจนพัฒนาการทางด้าน ร่างกาย อารมณ์ สังคมและสติปัญญาเข้าใจพฤติกรรมต่างๆของตนเองและผู้อื่นนำความรู้ทางจิตวิทยาไปใช้แก้ปัญหาของตนเอง และนำความรู้ทางจิตวิทยาไปใช้ในการปรับตัว เข้ากับสังคมได้ ตระหนักถึงความสำคัญของจิตวิทยาและการนำจิตวิทยาไปประยุกต์ใช้ในการดำรงชีวิต การประกอบอาชีพและการทำงานต่างๆ

หลักพื้นฐานของสุขภาพจิต
1. การปรับตัวเป็นวิถีชีวิตของคนทั่วๆไปทุกคนที่จะต้องปรับตัวอยู่ตลอดเวลาทุกคนย่อมจะการดำเนินชีวิตประจำวันเป็นไปตามครรลองแห่งตน แต่หลายคนย่อมประสบปัญหา และต้องแก้ปัญหาต่างๆ มากมายดังนั้นบุคคลจึงต้องหาทางผ่อนคลายอารมณ์ด้วยวิธีใดวิธีหนึ่ง อาจจะต้องมีการปรับตัวปรับใจให้ทันกับเรื่องต่างๆ คนที่ปรับตัวเก่งก็จะมีสุขภาพจิตดี คนที่มีสุขภาพจิตดีย่อมปรับตัวได้ดี ดำรงตนในสังคมได้
2. บุคคลแต่ละคนย่อมมีลักษณะประจำตัวที่แตกต่างกัน บางคนมีความอดทนต่อบางสิ่งไม่ได้บางคนสามารถทนต่อสิ่งแวดล้อมที่รุนแรงได้ ต่างคนต่างก็มีปฏิกิริยาต่อสภาพที่คับข้องใจต่างกัน มีวิธีการใช้ชีวิตที่ต่างกัน บุคคลแต่ละคนจึงไม่เหมือนกัน
3. สิ่งแวดล้อมมีอิทธิพลต่อสุขภาพจิตของบุคคลมากมาย เช่น ระบบสังคม วัฒนธรรม และในชุมชนก็มีอิทธิพลต่อสุขภาพจิตของบุคคลมาก ถ้าวัฒนธรรมของเขาขัดกับคำสั่ง ย่อมเป็นปัญหาในทางปฏิบัติในการดำเนินชีวิต คนจนขาดแคลนถ้าต้องการให้สวมใส่เสื้อผ้าดี ๆ ย่อมลำบากที่จะหามาใส่แต่ ผู้ที่มาจากสิ่งแวดล้อมทางสังคมดี ย่อมมีความสามารถในการปรับตัวได้ดีในสภาพการณ์ต่าง ๆ ดังนั้นคนจึงมีความแตกต่างกันวิธีการของบุคคลจึงเลือกวิธีที่ไม่เหมือนกัน
4. ระบบศีลธรรมนับว่ามีอิทธิพลต่อสุขภาพจิตมาก ถ้าวัฒนธรรมแตกต่างกันคนสองคนอาจขัดแย้งกันและไม่ทราบว่า จะถือปฏิบัติตามฝ่ายไหน อาจทำให้เสื่อมสุขภาพจิตได้
5. พันธุกรรมก็เป็นตัวกำหนดลักษณะทางร่างกายและจิตใจของมนุษย์ติดตัวมาโดยแต่กำเนิด จึงเป็นการยากที่จะแก้ไข เช่น ตาบอดสี จิตทราม ปัญญาอ่อน เป็นต้น
ดังนั้นจะต้องระมัดระวังในเรื่องหลักการพื้นฐานของสุขภาพจิต ทั้งห้าประการดังกล่าวข้างต้นในการวิเคราะห์พฤติกรรมมนุษย์เพราะยังมีปัจจัยที่มีอิทธิพลอีกหลายประการที่ทำให้หลายคนมีสุขภาพจิตที่ต่างกันแต่ที่ดีที่สุดคือการรักษาสุขภาพจิตของตนเองระมัดระวังความคิด ความคิดที่ดีจะทำให้เราปฏิบัติดี รู้จักรักตนเองและนำความรักและความรู้สึกที่เรารักตัวเองออกมารักผู้อื่น ปฏิบัติดีๆ กับผู้อื่น สุขภาพจิตเราก็จะดี มีข้อสังเกตบางประการคือ ความรักที่เรามอบให้เพื่อนมนุษย์ต้องไม่หวังสิ่งตอบแทน ต้องไม่คาดหวังว่าเมื่อเราทำอย่างนี้แล้วต้องได้ผลตอบแทนอย่างนั้น จงพยายามเข้าใจคนอื่นตามที่เขาเป็นเราก็จะมีความสุข และสิ่งที่ควรศึกษาต่อไปคือลักษณะของผู้มีสุขภาพจิตดีมีลักษณะอย่างไร ซึ่งอาจทำให้เราหลายคนพัฒนาตนพัฒนาจิตได้อีกระดับหนึ่ง
สาเหตุที่ทำให้สุขภาพจิตเสื่อม
สาเหตุที่ทำให้สุขภาพจิตของบุคคลเสื่อมได้แก่ สาเหตุทางร่างกาย สาเหตุทางจิตใจและสาเหตุจากสิ่งแวดล้อม ซึ่งแยกอธิบายเพื่อให้เข้าใจง่ายๆ ดังนี้คือ
1. สาเหตุทางร่างกาย เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้สุขภาพจิตเสื่อม ได้แก่ ความบกพร่องทางร่างกาย ความเจ็บไข้ได้ป่วย ความบกพร่องของอวัยวะรับสัมผัส สมองได้รับความกระทบกระเทือน ความบกพร่องในด้านอนามัยและโภชนาการและสาเหตุทางพันธุกรรม โดยจะแยกอธิบายเป็นข้อๆ ดังนี้
1.1 ความบกพร่องทางร่างกาย เช่น มีร่างกายอ่อนแอ เป็นคนผอมหรืออ้วนเกินไป เตี้ยเกินไป แคระแกร็น จมูกแฟบ หรือมีความพิการ ไม่สมประกอบ เช่น ตาถั่ว ปากแหว่ง แขนคอก ทำให้เกิดความวิตกกังวล รู้สึกตนว่ามีปมด้อย มีความละอายจนไม่สามารถปรับตัวได้ ทำให้เกิดปัญหาทางด้านพฤติกรรมมาก อาจถูกแกล้ง ถูกล้อเลียน ถากถาง อยู่เสมอจนทนไม่ได้จะรู้สึก เสียใจ กลุ้มใจ น้อยใจ ในความอาภัพ กังวลใจในความพิการ มักจะทำให้จิตใจหงุดหงิดอยู่เสมอ นาน ๆ เข้าจิตใจอาจผิดปกติได้ การแก้ไขต้องหาสมุติฐานให้แพทย์แก้ไข หรือพยายามหาทางให้ทำงานหรือเข้าสังคมสนุกสนานกับเพื่อน ๆ เสียอาจจะลืมเรื่องบกพร่องเหล่านั้นได้
1.2 ความเจ็บไข้ได้ป่วย มีโรคประจำตัวเรื้อรัง เช่น โรคหัวใจ โรคหืด โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตหรือโรคปอด โรคเรื้อน หรือโรคขาดธาตุอาหารบางอย่าง ทำให้มีผลต่อสุขภาพจิต ทำให้รู้สึกหงุดหงิด ชี้ระแวงฉุนเฉียว ใจน้อย ปรับตัวยาก พัฒนาการทางด้านกาย อารมณ์ สังคม และสติปัญญาล่าช้า เป็นอุปสรรคต่อการศึกษาเล่าเรียน กลายเป็นคนมีปัญหา
1.3 ความบกพร่องทางอวัยวะรับสัมผัส เช่น หูฟังไม่ค่อยได้ยิน ตามองไม่ค่อยเห็น เป็นอุปสรรคต่อกระบวนการเรียนรู้ทั้งสิ้น โดยภาพรวมคนที่พิการหรือคนที่บกพร่องทางร่างกายมักจะหงุดหงิดง่ายเพราะทำอะไรไม่ถนัดนัก ยิ่งมาพิการภายหลังจะยิ่งทำให้คนไม่มีความสุขนักเมื่อไม่มีความสุขนานวันเข้าก็ทำให้สุขภาพจิตเสื่อม
1.4 สมองได้รับความกระทบกระเทือนอย่างหนักจากอุบัติเหตุหรืออื่นๆ
1.5 ความบกพร่องในด้านอนามัยและโภชนาการ ทำให้อ่อนแอ พัฒนาการ ล่าช้ากว่าปกติ เด็กที่ขาดอาหารนอกจากพัฒนาการช้าแล้วยังอาจเป็นโรคบางอย่าง เช่น ขาดไอโอดีน ทำให้เป็นโรคคอพอก ทำให้หงุดหงิดเจ้าอารมณ์ มีปัญหาด้านความประพฤติ
1.6 สาเหตุจากพันธุกรรม (Heredity) ได้แก่ ความบกพร่องทางร่างกายและทางสติปัญญาแต่กำเนิด เช่น ตาบอดสี ลมบ้าหมู เป็นผลต่อสุขภาพจิตมากสติปัญญาต่ำเกินไปหรือสูงเกินไป ทำให้มีปัญหาทางสุขภาพจิตได้ทั้งสองอย่าง ที่ต่ำเกินไปทำให้เรียนช้าไม่ทันเพื่อน ที่สติปัญญาสูงเกินไปก็คับข้องใจรำคาญใจ เพราะต้องทนเรียนสิ่งที่ตนเองไม่สนใจ ทั้งคนโง่และคนฉลาดเกินไปย่อมมีปัญหาในเรื่องการปรับตัวทั้งสิ้น
2. สาเหตุทางจิตใจ ได้แก่
2.1 อารมณ์ เมื่อเกิดปัญหาทางอารมณ์จะมีผลถึงสุขภาพจิต อารมณ์ที่อาจทำให้คนเสียสุขภาพจิตได้มากได้แก่ความกลัว (Fear) ความวิตกกังวล (Anxiety) และ ความโกรธ (Anger) ดังนี้
2.1.1 ความกลัว (Fear) บางคนกลัวความมืด กลัวที่แออัด กลัวพลัดพรากจากกัน กลัวถูกตำหนิ กลัวคนไม่รัก กลัวถูกลงโทษ กลัวคนแปลกหน้า กลัวที่สูงๆ ถ้ามีอารมณ์เช่นนั้นนาน ๆ เข้าก็จะกลายเป็นคนกลัวโดยไม่มีเหตุผล บางคนกลัวมากจนทำให้เสียสุขภาพจิต
2.1.2 ความวิตกกังวล (Anxiety) มีอิทธิพลร้ายแรงเพราะเป็นอารมณ์ที่เกิดติดต่อกันได้เป็นระยะนาน ๆ ทำลายประสิทธิภาพและสุขภาพทางจิตของคนลงได้มาก ซึ่งความวิตกกังวลมักเป็นห่วงอะไรต่ออะไร บางคนกังวลในเรื่องรูปร่างหน้าตา ฐานะเศรษฐกิจ เสื้อผ้า เครื่องแต่งตัว วุฒิ ทำให้เกิดความทุกข์ ทำให้ตนขาดความมั่นคงไป ถ้าใครวิตกกังวลมาก ๆ โดยปราศจากเหตุผล คนนั้นมักขาดประสิทธิภาพและเสียสุขภาพจิตไปโดยไม่จำเป็น
2.1.3 ความโกรธ (Anger) คนที่โกรธบ่อย ๆ แสดงว่าไม่มีความมั่นคงทางอารมณ์ ทำให้เข้าสังคมได้ยากและมีผลให้เสียสุขภาพจิต ทุกข์ใจ ไม่สบายใจ
2. 2 ความเหนื่อยล้าของจิต (Fatigue) มีผลต่อสุขภาพจิตและปัญหาอื่นๆ ความเหนื่อยล้าของจิตอาจเกิดจากสาเหตุต่างๆ ได้หลายสาเหตุเช่น การขาดสารอาหารบางกลุ่มในร่างกาย การรับประทานอิ่มมากเกินไป การอดนอน ออกกำลังมากไป ความเบื่อหน่าย การทำงานไม่ประสบความสำเร็จ การมีปัญหาขัดแย้งกับคนอื่น คนประเภทนี้มีโอกาสสุขภาพจิตเสียได้ง่ายกว่าคนธรรมดา และการขาดความรู้ความสามารถในการแก้ปัญหา ทำให้บุคคลยิ่งเกิดความเครียดทางอารมณ์ สุขภาพจิตเสียได้ง่าย
2.3 การเปลี่ยนแปลงของสังคม ทำให้บุคคลย่อมมีปัญหาต่างๆ มากมาย จึงมีแนวโน้มที่จะแสดงพฤติกรรมต่าง ๆ กัน ถ้าบุคคลถูกขัดขวางจะทำให้เกิดความขัดแย้ง (Conflict) เกิดความขุ่นข้องหมองใจหรือความคับข้องใจ (Frustration) และเกิดความวิตกกังวล (Anxiety) จะทำให้เกิดความแปรปรวนทางจิตใจขึ้นได้ ต่างสังคมก็ย่อมต่างวัฒนธรรม ไม่ทราบจะถือว่าประการใดถูกกันแน่ แม้นักจิตวิทยาเองก็ยังมองธรรมชาติของมนุษย์แตกต่างกัน เช่น Freud เน้นพฤติกรรมธรรมชาติของมนุษย์ในทางเพศ (Sex) แต่ Adler มีความเห็นว่าธรรมชาติของมนุษย์ต้องการมีอำนาจ ส่วน Jung เห็นว่าธรรมชาติของมนุษย์ต้องการปกปักษ์รักษาตัวเอง ฉะนั้นความขัดแย้งกันในทางสังคมและวัฒนธรรมย่อมต้องเกิดขึ้น
3. สาเหตุจากสิ่งแวดล้อม ได้แก่
3.1 สิ่งแวดล้อมทางบ้าน ในครอบครัวที่ดีมีการเลี้ยงดูดี ให้ความรักให้ความอบอุ่น แก่สมาชิกรวมทั้งให้ความเห็นอกเห็นใจกันบุคคลก็จะมีสุขภาพจิตดี ปรับตัวได้ดี ถ้าเกิดในครอบครัวที่เลี้ยงดูไม่ค่อยดีเท่าที่ควร มีการอบรมเลี้ยงดูที่ไม่ถูกต้อง บุคคลก็จะมีความสามารถของการปรับตัวก็ไม่ดีนักและสุขภาพจิตก็ไม่ดีด้วย
3.1.1 บ้านแตก (Broken Home) คือครอบครัวที่แตกร้าว ลูกที่ขาดพ่อแม่ หรือพ่อแม่ไม่ลงรอยกันพ่อแม่ทะเลาะกันไม่เว้นแต่ละวัน ในบ้านมีแต่ปัญหา มีการทะเลาะกันไม่ได้หยุด คนในบ้านไม่รักกัน ขาดความเอาใจใส่กัน ซึ่งอาจทำให้สุขภาพจิตของคนเสื่อมง่าย
3.1.2 เด็กกำพร้าพ่อแม่ เด็กที่ขาดความอบอุ่น ขาดความรัก ว้าเหว่ เหงา เด็กประเภทนี้ต้องให้ความรัก ความเอาใจใส่เป็นพิเศษ ให้มีเพื่อนที่ดีมีการเล่นหัวและคอยช่วยเหลืออยู่เสมอ ต้องคอยสนทนาด้วยอย่างเห็นอกเห็นใจ ให้เขามีกิจกรรมทำตามความสนใจอาจช่วยบุคคลเหล่านี้ได้
3.1.3 บ้านที่ปล่อยปละละเลยลูกเลี้ยงดูอย่างไม่เต็มใจไม่เอาใจใส่ เด็กขาดความรัก ความอบอุ่นขาดที่พึ่ง ถูกทอดทิ้ง เด็กเหล่านี้มักมีปัญหาสุขภาพจิตได้
3.1.4 บ้านที่บิดามารดาเข้มงวดมากเกินไป ผู้ใหญ่เจ้าระเบียบ เอาแต่ใจ กดขี่ ข่มขู่ ตั้งความหวังไว้สูงเกินไป อาจเป็นสาเหตุในการกดดันทำให้เด็กมีสุขภาพจิตผิดปกติได้
3.1.5บ้านที่คุ้มครองเด็กมากเกินไปจนเด็กไม่มีโอกาสเป็นตัวของตัวเองขาดอิสระ เด็กประเภทนี้ก็เป็นปัญหาในการปรับตัวของเด็กเช่นกัน
3.1.6บ้านที่ตั้งอยู่ในสิ่งแวดล้อมไม่ดี เช่น ตั้งอยู่ใกล้แหล่งเสื่อมโทรม แหล่งการพนัน อบายมุข สิ่งแวดล้อมที่ไม่ดีอาจทำให้เด็กสับสน
3.1.7บ้านที่เศรษฐกิจไม่ดี ไม่มีของใช้ ขาดอาหารการกิน ขาดเครื่องนุ่งห่ม ขาดปัจจัยในการดำรงชีวิต ความขัดสนความไม่พอสร้างความเครียดให้เด็กได้เช่นกัน
3.2 สิ่งแวดล้อมในสถาบันการศึกษา ถ้าสถาบันมีระเบียบข้อบังคับเข้มงวดมากเกินไป หยุมหยิม หรือระเบียบหย่อนยานเกินไป มีการแข่งขันกันมากเกินไป หรือครูไม่เอาใจใส่ ขาดระเบียบวินัย บรรยากาศในโรงเรียนไม่ดี อาจทำให้สุขภาพจิตของเด็กเลื่อมลงได้ และทำให้เกิดความเครียด วิตกกังวล โดยเฉพาะนักศึกษาใหม่ที่ยังไม่เคยชินต่อสถานที่ ยังปรับตัวไม่ได้ ถ้าไม่ได้รับการต้อนรับอย่างอบอุ่นยิ่งพบกับอาจารย์ที่มีสัมพันธภาพกับนักศึกษาน้อยมาก อาจทำให้นักศึกษาเก็ง และกลัว ทำให้การปรับตัวทำได้ค่อนข้างยาก
วิธีการรักษา
1. การรักษาโดยใช้ยา
2. การรักษาโดยการใช้ไฟฟ้า
3. การทำจิตบำบัด
4. การสะกดจิต
5. การผ่าตัด
6. การรักษาโดยอาศัยสิ่งแวดล้อม
7. พฤติกรรมบำบัด
พฤติกรรมของผู้มีสุขภาพจิตผิดปกติ
พฤติกรรมของผู้มีสุขภาพจิตผิดปกติ หรือผู้มีความผิดปกติทางจิตในขั้นอ่อน เรียกว่า Neuroses เป็นสภาพผิดปกติทางจิต ซึ่งเรามักจัดอยู่ในระดับการป่วยทางจิตระดับปานกลางระหว่างสุขภาพจิตสมบูรณ์แบบหรือที่เรียกว่าโรคประสาท ซึ่งผู้ป่วยสามารถรับรู้โลกของความจริง และสามารถดำรงอยู่ในสังคมได้ และ Psychoses หรือการป่วยทางจิตอย่างรุนแรงหรือที่เรามักเรียกกันว่าโรคจิต ผู้ป่วยจะไม่รับรู้โลกของความจริง ไม่สามารถดำรงตนในสังคมได้

พฤติกรรมของผู้มีสุขภาพจิตปกติ
พฤติกรรมของผู้มีสุขภาพจิตปกติหรือลักษณะของผู้มีสุขภาพจิตดีควรมีละกษณะต่างๆ ดังต่อไปนี้
1. เป็นผู้ที่รู้จักและเข้าใจตนเองได้ดีอยู่เสมอรู้จักควบคุมอารมณ์ไม่ตกเป็นทาสของอารมณ์ เช่น โกรธ กลัว อิจฉา ฯลฯ ยอมรับสภาพความขาดแคลนและขีดจำกัดของตน ยอมรับนับถือตนเอง ยอมรับสภาพทั่วไปของตนเอง ยอมรับความผิดหวังอย่างไม่สะทกสะท้าน สามารถรับได้ทั้งความผิดหวังและความสำเร็จ รู้จักประมาณตน ประเมินความสามารถของตนเอง ไม่ดูถูกหรือยกย่องความสามารถของตนจนเกินความเป็นจริง
2. เป็นผู้ที่รู้จักตนเองและสามารถเข้าใจผู้อื่นได้ดีบุคคลควรมีเข้าใจและยอมรับความแตกต่างระหว่างบุคคล ให้ความสนใจ รักใคร่แก่ผู้อื่นมีความสัมพันธ์อันดีกับเพื่อนอย่างราบรื่นชื่นสุขและมั่นคง สามารถเป็นได้ทั้งผู้นำและผู้ตามที่ดี มีความรับผิดชอบต่อเพื่อนบ้านหรือบุคคลอื่นที่เกี่ยวข้อง มีความรู้สึกว่าตนเองเป็นส่วนหนึ่งของหมู่คณะหรือสังคม ทำงานร่วมกับคนอื่นได้ดี ไม่ยกตนข่มท่าน ไม่คิดว่าตนเองเก่งกว่าคนอื่น มีน้ำใจเสียสละ ให้ความช่วยเหลือบุคคลอื่น ไม่เอาเปรียบผู้อื่น เข้าใจความรู้สึกของบุคคลอื่น ใจกว้างยอมรับฟังการติชมจากคนอื่น รู้สึกว่าตนเป็นส่วนหนึ่งของสังคม
3. เป็นผู้ที่สามารถเผชิญกับปัญหาและความเป็นจริงแห่งชีวิตได้ดีสามารถตัดสินใจในปัญหาต่าง ๆ ได้อย่างฉลาด มีเหตุผล ฉับพลัน ปราศจากความลังเล หรือเสียใจภายหลังสามารถปรับตัวเข้ากับสิ่งแวดล้อมได้ทุกสภาพการณ์และปรับสิ่งแวดล้อมให้ดีขึ้นได้ รับผิดชอบต่อปัญหาและอุปสรรคต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นกับตนเองอย่างเต็มที่ พร้อมที่จะเผชิญปัญหาชีวิตได้ด้วยความไม่ประมาท ปราศจากความวิตกกังวล ไม่ประหม่า และไม่หวาดกลัวต่อเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตสามารถใช้พลังงานที่มีอยู่อย่างเต็มที่ให้เกิดประโยชน์มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ พอใจ ชื่นชม ยินดีต่อการกระทำที่ตนกำลังกระทำอยู่ มีความมานะพยายาม พากเพียร


ดัชนีชี้วัดสุขภาพจิต
องค์การอนามัยโลกได้เล็งเห็นความสำคัญของปัญหาสุขภาพจิต จึงเลือกหัวข้อนี้ตีพิมพ์เป็น World Health Report 2001: Mental Health New understanding New Hope (WHO, 2001) มีเจตนารมณ์ให้ตระหนักถึงความสำคัญของสุขภาพจิตทั้งในระดับบุคคลและ ประชาชาติทั่วโลก ในแง่ผลกระทบทางสังคม เศรษฐกิจ และภาระที่เกิดขึ้นจากปัญหาสุขภาพจิต โดยองค์การอนามัยโลกได้มีข้อแนะนำบริบททางสุขภาพจิตเพื่อการบริหารจัดการระดับชาติ สำหรับทุกประเทศ ทุกองค์กรในการพัฒนาสุขภาพจิตเพื่อนำไปดัดแปลงปฏิบัติ ไว้10 ด้านดังนี้
1. ให้การบริการรักษาปัญหาสุขภาพจิตตั้งแต่ระดับปฐมภูมิ
2. ส่งเสริมและจัดหายาเพื่อสามารถรักษาโรคทางจิตเวช
3. ให้การบริการสุขภาพจิตระดับชุมชน
4. มีการอบรมเผยแพร่ความรู้แก่ประชาชน
5. มีส่วนเข้าร่วมในกิจการต่างๆของชุมชน ครอบครัว
6. สร้างนโยบายระดับชาติ เป็นโครงการต่างๆ หรือพัฒนากฎหมายที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพจิต
7. พัฒนาทรัพยากรบุคคล
8. เชื่อมโยงเป็นเครือข่ายกับองค์กรด้านอื่นๆ
9. เฝ้าติดตามภาวะสุขภาพจิตของชุมชน
10. ส่งเสริมสนับสนุนงานวิจัยทางสุขภาพจิต จะเห็นว่าการศึกษาวิจัยเพื่อพัฒนาองค์ความรู้ของประเท เป็นสิ่งจำเป็นยิ่งในขณะนี้ พื้นฐานเริ่มต้นคือการกำหนดนิยามและขอบเขตซึ่งได้ทบทวนและนำเสนอไปในส่วนที่แล้วในส่วนต่อมาจะเป็นการทบทวนการศึกษาปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพจิตโดยเริ่มจากสิ่งที่ใช้ประเมินสุขภาพจิตคือดัชนีชี้วัดสุขภาพจิตต่างๆ

ไม่มีความคิดเห็น: